“นนทบุรี” ในวันที่เติบโตแนวยาว เมื่อผังเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของที่ดิน แต่คือความเท่าเทียมกันของทุกคน

 


โดย.. ทีมข่าวลูกศิลป์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร

“ทุกวันนี้ต้องออกจากบ้านก่อน 6 โมง ถ้าออกช้ากว่าเดิมแค่ 15 นาที จะใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ชั่วโมง ถ้าออก 7 โมง ก็ไปทำงานสายแน่นอน ถนนตรงรัตนาธิเบศร์ข้ามแยกแครายเป็นคอขวด พอติดจุดนี้แล้วก็ติดไปจุดอื่นด้วย เมืองมันไม่ไหลลื่น”

เมื่อ 33 ปีที่แล้ว สมัยที่ “ภูมิใจ ภูวะนสุขสุนทร” ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย เพิ่งย้ายบ้านมาอยู่ที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เขาใช้จักรยานเดินทางจากหมู่บ้านปัญฐิญาไปวัดโชติการามระยะทาง 3 กิโลเมตรได้ เพราะรถไม่เยอะนัก สองข้างทางยังเป็นสวน ไร่นา มีหมู่บ้านจัดสรรเพียงไม่กี่แห่ง แต่ปัจจุบันทุกเช้าที่ต้องไปทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งที่ศรีย่าน กรุงเทพฯ ต้องรีบตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อฝ่าการจราจรอันแสนติดขัด

ไม่ต่างจาก “ไพเราะ กู๋ทะ” พยาบาลใน อ.บางใหญ่ที่ต้องตื่นตั้งแต่ 04.30 น. เพื่อเข้างานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีให้ทันตอน 07.00 น. เธอบอกว่า ที่ไม่ตัดสินซื้อบ้านในกรุงเทพฯ เพราะเมืองแออัดและมีราคาสูงเกินกำลัง กังวลว่าจะผ่อนไม่ไหว รวมถึง 25 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีเงินมากพอจะดาวน์บ้านในราคาที่สูงมาก จึงต้องมาซื้อบ้านในนนทบุรีที่เป็นพื้นที่ใกล้เคียงแทน

๐ นนทบุรี เมืองที่มีประชากรหนาแน่นรองจากกรุงเทพฯ

เมื่อ 10 ปีก่อน จ.นนทบุรีมีประชากร 1,078,071 ล้านคน ปัจจุบันมีประชากร 1,265,387 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 2 แสนคน ซึ่งยังไม่นับรวมประชากรแฝงอีกจำนวนหนึ่ง จากเอกสารรายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2562 ยังระบุว่า ที่นี่มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ และเป็นเมืองแฝด คือเมืองที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดกันและมีการเจริญเติบโตเชื่อมถึงกัน ทำให้เกิดโครงการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน รถไฟฟ้า



นนทบุรี” ยังจัดเป็นเมืองขนาดใหญ่ จำแนกตามมาตรฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกณฑ์มาตรฐานผังเมืองรวม สำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ปี 2549 ซึ่งกำหนดแนวทางผังเมืองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา แก้ไขปัญหาของชุมชนและรองรับการขยายตัวของเมืองใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านสุขอนามัยชุมชน ต้องวางผังเมืองให้สภาพแวดล้อมดี มีที่อยู่อาศัยที่สุขสบาย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 2) ด้านความสะดวกสบายจากบริการสาธารณะ กำหนดที่ตั้งของบริการสาธารณะต่างๆ ให้อยู่ในระยะทางที่มีความสะดวก

3) ด้านความมั่นคงทางการเงินและการคลัง กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างกำไรให้เป็นผลตอบแทนต่อชุมชน 4) ด้านความปลอดภัย เช่น การกำหนดขนาดของถนนที่เพียงพอต่อปริมาณการจราจร 5) ด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การออกข้อกำหนดควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศ และ 6) ด้านสวัสดิภาพทางสังคม เช่น จัดให้มีสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อน

ทีมข่าวลูกศิลป์ ตรวจสอบแผนที่ดาวเทียม Google Map เมื่อเดือน พ.ย. 2563 พบว่า อ.เมืองนนทบุรี บริเวณรอบศูนย์ราชการนนทบุรีล้อมรอบไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร มีถนนเส้นหลักที่ผ่านคือถนนรัตนาธิเบศร์

เมื่อเปรียบเทียบกับ จ.ยะลา ซึ่งถูกยกให้เป็นเมืองที่มีผังสวยที่สุดของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้รับรางวัลเมืองเพื่อสันติภาพ (UNESCO Cities for Peace Prize) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) พบว่า ที่นั่นวางรูปแบบเมืองเป็นลักษณะวงกลม 3 ชั้นซ้อนกัน มีถนนหลักตัดเชื่อมต่อกัน จัดประเภทการใช้ที่ดินที่มีความคล้ายคลึง ประเภทเดียวกันในบริเวณเดียวกัน โดยวงด้านในสุดเป็นหน่วยงานราชการ วงถัดมาเป็นบ้านพักราชการและวงนอกสุดเป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยของประชาชน

สอดรับกับเอกสารประกอบการสอน ปี 2560 วิชาภูมิศาสตร์เมือง สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ของมรกต วรชัยรุ่งเรือง  ระบุว่า ผังเมืองที่ดีจะมีลักษณะคล้ายทฤษฎีวงแหวน (Concentric Pattern) มีศูนย์กลางเมือง และค่อยๆ ขยายตัวออกไป มีแนวถนนแบ่งพื้นที่ของเมืองออกเป็นส่วนๆ และใช้ถนนรัศมีเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ที่ดินทุกส่วนได้สะดวกรวดเร็ว

๐ ผังเมืองที่ไร้ทฤษฎี การเติบโตของเมืองที่ไร้ระบบ

แหล่งข่าวจากงานพัฒนาผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ระบุว่า ผังเมืองนนทบุรีคล้ายรูปแบบขยายตัวในแนวยาว (Linear Pattern) จะทำให้ความเจริญเกาะอยู่ตามแนวถนนหลัก และมีเส้นทางย่อยตัดแยกเข้าไปตามซอย หากเมืองมีขนาดใหญ่ ย่อมมีแนวการขยายตัวเชิงเส้นที่ยาวขึ้น ทำให้การจราจรติดขัด

“ก่อนหน้าที่จะวางผังเมืองนนทบุรีไม่ได้มีการนำทฤษฎีหรือรูปแบบผังใดมาอ้างอิงเป็นหลักไว้ก่อน ทำให้ทุกอย่างในเมืองเติบโตไปอย่างไม่มีระบบ”

แหล่งข่าวยอมรับ

แผนที่ดาวเทียม อ.เมืองนนทบุรี สืบค้นจากเว็บไซต์ Google Map เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 จะเห็นว่าจากจุดสำคัญของเมืองอย่างศาลหลักเมืองและสถานที่ราชการสำคัญของจังหวัด (สีเหลือง) มีถนนตัดผ่านเพียง 2 เส้น คือ เส้นสีน้ำเงิน (ถนนรัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน) และเส้นสีส้ม (ถนนติวานนท์) มีสี่แยกแครายเป็นจุดเชื่อมกันระหว่างถนนเส้นหลัก


แต่เมื่อสืบค้นแผนที่ดาวเทียม อ.เมืองจังหวัดยะลาจากเว็บไซต์ Google Map ในวันเดียวกัน จะเห็นว่ามีการกระจายสถานที่ราชการสำคัญเป็นลักษณะวงกลม (สีเหลือง) และกระจายอยู่รอบทั้ง 4 ทิศ มีถนน 4 เส้น คือ เส้นสีน้ำเงินและสีฟ้า (ถนนผังเมือง 2) สีแดง (ถนนเทศบาล 1 สุขยางค์) และสีเขียว (ถนนพิพิธภักดี) ตัดเชื่อมกันในรูปแบบวงเวียน


ขณะเดียวกัน เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดนนทบุรี จัดทำโดยสำนักงานจังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือน ธ.ค. 2561  หน้า 33 ชี้ว่า ปริมาณจราจรสายหลักเชื่อมระหว่างนนทบุรี-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะถนนงามวงศ์วาน ถนนแจ้งวัฒนะ  และถนนรัตนาธิเบศร์ มีปริมาณหนาแน่นตลอดวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ถนนงามวงศ์วาน มีปริมาณรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขาเข้าและขาออก รวมกันเฉลี่ย 183,767 คันต่อวัน ถือว่า มากที่สุดของจังหวัด

รายงานฉบับเดียวกัน หน้า 39-40 ระบุว่า มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมถึง 16 จุด บนถนนสายหลักอย่างงามวงศ์วาน แจ้งวัฒนะ และติวานนท์

๐ ฝนตกน้ำระบายช้า “ถนน-บ้านจัดสรร” ขวางทางน้ำ

ศุภโชค ศิลป์วิลาศ ผู้ปกครองนักเรียน เดินทางมาส่งลูกสาวที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ นนทบุรี จากเขตสายไหม ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีในวันปกติ และหากฝนตกจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ชั่วโมง

เช่นเดียวกับ พนธกร จอมเกาะ ผู้ใช้ถนนแจ้งวัฒนะมากว่า 10 ปี เล่าว่า เคยออกจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะตอน 16.00 น. เพื่อไปขึ้นทางพิเศษต่างระดับแจ้งวัฒนะ ใช้เวลา 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ ในระยะทางเพียง 3 กิโลเมตร และช่วงฝนตกใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง เนื่องจากมีน้ำท่วม ทำให้รถสัญจรได้ช้าลง

“ต้องเผื่อเวลาออกจากบ้าน อย่างตอนที่ต้องไปเรียนก็ตื่นตั้งแต่ 04.00 น. เผื่อเวลารถติด ถ้าวันไหนออกช้ากว่า 05.00 น. เตรียมเข้าแถวสายโดนหักคะแนน ยิ่งฝนตกต้องจัดตารางชีวิตใหม่ทั้งหมด แล้วถ้ามีน้ำท่วมอีกก็หนักเลย รถทุกคันต้องขับชะลอ เพราะกลัวน้ำเข้าเครื่อง ฤดูฝนปีไหนก็เห็นมันท่วมเหมือนเดิม”

ทีมข่าวตรวจสอบการระบายน้ำจากเอกสารโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.ปากเกร็ด – ศูนย์ราชการเเจ้งวัฒนะของกรมทางหลวงร่วมกับเทศบาลนครปากเกร็ดที่จะแล้วเสร็จในปี 2565 ระบุถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบนถนนแจ้งวัฒนะ ว่า มาจาก 2 ข้างทางที่มีระดับสูงกว่าถนน เมื่อฝนตกทำให้ระบายลงสู่คลองสาธารณะได้ไม่ทัน ส่งผลให้ท่วมขังผิวจราจร และกระทบการจราจรทั้งโครงข่าย เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมหลายชั่วโมง

๐ เมื่อสีเหลืองเริ่มเข้ามาแทนที่สีเขียว

ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดนนทบุรีในเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ระบุลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดนนทบุรี ว่า นนทบุรีขยายตัวในรูปแบบกระจายตามเส้นทางคมนาคมสายหลักที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ เนื่องจากการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย สถิติจำนวนบ้านจากการจดทะเบียนเป็นรายอำเภอ พ.ศ.2556-2562 อำเภอเมืองนนทบุรีมีบ้านเพิ่มขึ้นถึง 42,889 หลัง 

ในทางกลับกัน รายงานสถิติจังหวัดนนทบุรี ระบุความยาวรวมของท่อและทางระบายน้ำในเขตเทศบาล ปี 2562 ความยาวเหลือ 40,692 เมตร ลดลงจากเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่มีความยาวรวม 53,757 เมตร

นอกจากบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ยังมีบริเวณถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรีที่ประสบปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ

จันทร์” (นามสมมติ) ประชาชนวัยเกษียณที่อาศัยอยู่ในซอยนนทบุรี 4 มากว่า 44 ปี กล่าวว่า ที่ดินเดิมเคยเป็นสวนทุเรียน หลังบ้านเป็นลำกระโดง ร่องสวนเก่าซึ่งเป็นทางน้ำไหลต่อลงคลองบางแพรกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันถูกถมที่จนเกือบหมด ทำให้ไม่มีทางน้ำไหล ฝนตกติดต่อกัน 3 วัน น้ำก็ท่วม เพราะน้ำในสวนไม่มีทางไป หากเต็มในลำกระโดงก็เอ่อล้นท่วมพื้นที่

ไม่ต่างจากผู้อาศัยคนอื่นในย่านเดียวกัน บอกกับทีมข่าวว่า ประสบปัญหาจากการถมที่ขวางทางน้ำ ทำให้บ้านของพวกเขาต้องเจอปัญหาน้ำท่วมช่วงฝนตกอยู่บ่อยครั้ง

แหล่งข่าวจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี ระบุกับทีมข่าวว่า โดยปกติจังหวัดนนทบุรี ตัวพื้นที่คล้ายเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว ในตอนแรกพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว แต่หลังจากการเรียกร้องของคนในจังหวัดที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สีเขียวทำให้ต้องเปลี่ยนข้อกำหนดเป็นสีเหลืองเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย น้ำระบายลงมาสิ่งปลูกสร้างจึงขวางทางน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก

แผนที่ซอยนนทบุรี 4 แสดงเส้นทางน้ำระหว่างลำกระโดง และคลองบางแพรกที่ไม่เชื่อมต่อกัน
ในภาพ สีเขียวคือลำกระโดง สีเหลืองคือคลองบางแพรกที่เดิมจะเชื่อมต่อกันไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่สีส้มคือพื้นที่ที่มีการถมตัดทางน้ำ


๐ เมื่อพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ร่างผังใหม่ยิ่งเบียดบัง

ทีมข่าวตรวจสอบต่อไปถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงของนนทบุรี พบว่า จากเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนหรือมากกว่า

แต่สำหรับจังหวัดนนทบุรี จากสถิติข้อมูลพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณระดับจังหวัด โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560 พบว่า ที่นี่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยที่สุด คือ 2.2 ตารางเมตรต่อคน หรือพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 2,723,901.25 ตารางเมตร ต่อประชากรทั้งสิ้น 1,229,735 คน

ขณะเดียวกัน แผนพัฒนา จ.นนทบุรี 4 ปี พ.ศ.2561-2564 ระบุว่า พื้นที่เมืองโดยส่วนใหญ่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ มีผลดึงดูดให้ประชากรเพิ่มความหนาแน่นขึ้น มีการขยายตัวไปในพื้นที่โดยรอบพื้นที่เมืองในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนใหญ่ 

ศุภลักษณ์ ภูวะนสุขสุนทร” ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ติวานนท์มา 20 ปี กล่าวว่า ย่านนี้ไม่มีสวนสาธารณะเพราะกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย มีแค่สวนในหมู่บ้าน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ คุณภาพอากาศยังแย่ลงด้วย

งานวิจัย ระบุว่า พื้นที่สีเขียวมีไว้เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่คนในพื้นที่ได้มีโอกาสใช้พื้นที่สวนสาธารณะในการพักผ่อน จากเอกสารงานวิจัยในหัวข้อ Do park make people happier ? ของหน่วยงาน Psychological Science ตีพิมพ์และเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556 ระบุว่าคนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวจะมีระดับความสุขมากกว่าคนที่อยู่ห่างไกลหรือเข้าไม่ถึงพื้นที่สีเขียว เนื่องจากคนเหล่านั้นมีโอกาสที่จะหลีกหนีมลพิษในตัวเมืองได้ รวมถึงมีสถานที่ไว้ให้ออกกำลังกาย ผลวิจัยนี้ชี้ว่ารัฐควรสนับสนุนการก่อสร้างและบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียว

แม้ จ.นนทบุรีจะมีนโยบายในการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2563 จะเพิ่มพื้นที่เขียวให้ทั่ว จ.นนทบุรี เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ปรากฏว่า ข้อมูลที่กรมโยธาธิการได้ให้เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 ระบุว่า ร่างผังเมืองใหม่จะมีการปรับลดพื้นที่สีเขียวลงถึง 2 หมื่นไร่ หรือเกือบ 46 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่เดิม เพื่อนำมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย

๐ ราคาที่ดินพุ่ง เกษตรกรทำสวนไม่คุ้ม จึงแห่ขายที่

“เมื่อมีหมู่บ้านเข้ามา ชุมชนเข้ามา ถนนเข้ามา พื้นที่เกษตรก็เปลี่ยนแปลงไป น้ำที่จะใช้ทำเกษตรมันก็ต้องมีทางน้ำ พอสร้างหมู่บ้านมันก็จะสร้างคร่อมทางน้ำ เราก็แก้ไขไม่ได้เพราะติดหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีน้ำใช้ และน้ำก็เสีย”



พงษ์พัฒน์ สุขอาบใจ” ลูกชายเกษตรกรที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบสร้างรายได้มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานไว้กินไว้ใช้เองในครัวเรือน กล่าวถึงปัญหาของน้ำที่ใช้ในการเกษตรทำให้ผลผลิตลดลง

เขาบอกอีกว่า ทำเกษตรสมัยนี้ไม่คุ้ม สวนเกษตรในนนทบุรีที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่เปล่ารอการขาย ทำเกษตรอย่างเดียวเลี้ยงชีพไม่ได้ต้องทำอาชีพอื่น เกษตรกรเป็นอาชีพเสริม เพราะไม่คุ้มค่า พื้นที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าจะทำเกษตร บางคนขายที่ดินเพื่อนำเงินไปลงทุนกับอย่างอื่น ความเจริญของตัวเมืองที่เข้ามาทำให้มีการตัดถนนเพิ่ม ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

ทีมข่าวตรวจสอบราคาที่ดินในปัจจุบันจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ทำเลที่ดิน จ.นนทบุรี  มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยในปี พ.ศ.2547 ที่ดินมีราคาเฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อตารางวา และปีล่าสุด พ.ศ.2562 ที่ดินมีราคาเฉลี่ยถึง 50,000-70,000 บาทต่อตารางวา

ทั้งนี้ จากสถิติในเอกสารของสำนักงานสถิติ จ.นนทบุรี พบว่า พื้นที่เกษตรใน จ.นนทบุรีลดลง 13,922 ไร่ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ผลผลิตทางการเกษตรยิ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้าวเจ้าที่เคยมีผลผลิต 93,503.71 ตันต่อปี ในช่วง 6 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุดที่มีในปี 2561 เหลือเพียง 69,164 ตันต่อปีเท่านั้น โดยเฉพาะทุเรียนที่ในอดีตเคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด แต่ในตอนนี้ถูกจัดให้เป็นพืชอนุรักษ์แทน

 นักวิชาการชี้ ผังเมืองต้องจัดสรรพื้นที่เหมาะสมเป็นธรรม

โสภณ พรโชคชัย” นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า วิถีชีวิตและการอยู่อาศัยของคน จำเป็นต้องมีแผนและผังพัฒนาเมือง (Guide Development) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการที่จะสอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งผังเมืองจะมีหน้าที่จัดสรรพื้นที่แต่ละประเภทอย่างเหมาะสม ให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อตอบรับกับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต

โสภณ กล่าวอีกว่า นนทบุรีจำเป็นจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่กรุงเทพฯ เป็นมหานคร (Megacity) หรือมหานคร และมีนนทบุรีเป็นเมืองนอน (Bed City) ของคนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะที่ดิน บ้าน มีราคาสูง จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยในนนทบุรีแทน จึงควรมีการวางแผนให้สอดรับกัน แต่ปัจจุบันผังเมืองปริมณฑล ไม่ได้ทำให้สอดคล้องกัน ต่างคนต่างวางแผน

“ถ้าจะเป็นเมืองที่รองรับกรุงเทพฯ จริงๆ อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงต้องสนับสนุนและกำหนดรอบๆ บริเวณนั้นให้สร้างตึกสูง สร้างที่อยู่อาศัยได้ มีมาตรการกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนั้น มีการสร้างรถไฟฟ้าไป แต่ผังเมืองก็ยังอยู่แบบเดิม ไม่ได้พัฒนาและส่งเสริมตาม จึงไม่สอดคล้องกัน” โสภณกล่าว

ด้าน “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการจัดทำผังเมืองคือ ขาดความเป็นธรรมในการรับรู้และตัดสินใจร่วมกันของคนในพื้นที่ การออกแบบผังเมือง เป็นกลไกขั้นตอนที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวาง จากนั้นก็เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น แต่ประชาชนไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเห็นความสำคัญว่าผังเมืองส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของพวกเขา

“ผมอยากให้คนตระหนักว่าผังเมืองมันสำคัญกับทุกคน เราต้องการผังเมืองที่เป็นธรรมกว่านี้ มันอธิบายได้ว่า เราจะจัดสรรหาพื้นที่ให้คนจนที่เช่าที่ดินให้ถูกลงได้อย่างไร และมันช่วยให้เราคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันได้ไหม คือมันไม่ได้แยกจากกันระหว่างการเมืองกับผังเมือง”

“คำถามสำคัญคือ ทุกคนได้มีโอกาสใช้พื้นที่เมืองเท่ากันหรือเปล่า ซึ่งอย่าไปติดกับผังการใช้ที่ดินอย่างเดียว แต่มันคือกฎกติกาที่จะอยู่ร่วมกันในเมือง” พิชญ์กล่าว

๐ ผอ.กองผังเมืองรับประชาชนเข้าไม่ถึงผังเมือง

บุษกร ปฐมอติชาต” ผอ.กองผังเมือง อบจ.นนทบุรี ชี้แจงว่า ประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบผังเมืองนนทบุรี เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องผังเมือง และกระบวนการในระบบราชการที่มีความล่าช้า มีข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ ทำให้การทำงานไม่เป็นไปในรูปแบบเชิงรุก

“พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ก็พยายามเสนอว่า ต้องมีหมวดหนึ่งที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางผัง และไม่ใช่แค่การวางผัง แต่ต้องมีคนเป็นกระบอกเสียงให้เรา เป็นตัวกลางให้เรา แต่นี่คือไม่มีเลย กลายเป็นคนจำนวนน้อยแต่เสียงดังกับคนจำนวนเยอะๆ แต่เสียงเบา ซึ่งไม่ใช่ตามหลักการ”

“เราต้องเอาคนที่เยอะๆ ที่เสียงดังกว่ามาใช้ คือต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็น ร้องเรียนในส่วนที่เป็นประโยชน์ของตนเอง ลำพังในการลงไปฟังเสียงประชาชนให้ครบทั่วทั้งหมดเราก็ไม่ไหว ไม่ได้มีมือไม้มาช่วย ถ้าเป็นผังเมืองระดับนโยบายที่สนับสนุนและระบุชัดเจนว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ทุกคน มันจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น”

 โยธาธิการรับผังเมืองใหม่ล่าช้า เร่งพิจารณาประกาศใช้ปี 64

ชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์” โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวลูกศิลป์ผ่านทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ยอมรับว่า ผังเมืองฉบับใหม่ล่าช้าในการประกาศใช้ โดยในระหว่างนั้นกรมโยธาธิการได้มีการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของนนทบุรี 35 แห่งออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่มีเพื่อกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง และดัดแปลงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อใช้แทนผังเมืองชั่วคราว ซึ่งผังฉบับใหม่นี้จะมีการประกาศใช้ภายในปี 2564 ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเมื่อเดือน ต.ค. 2563 และประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 หากผ่านในเดือนหน้าจะนำเรื่องผังเมืองเข้าพิจารณาวาระ 2 ต่อไป

ชาญวิชญ์ กล่าวอีกว่า ผังเมืองนนทบุรีฉบับใหม่นี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการและบริการสวัสดิการให้แก่คนในจังหวัด โดยวางแผนแก้ปัญหาด้านคมนาคมผ่านการวางโครงข่ายคมนาคมเผื่อระบายรถติด ส่วนเรื่องน้ำท่วมได้มีการกำหนดพื้นที่โล่งริมคลองเพื่อไม่ให้มีการก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดผ่านการดาวน์โซนจากพื้นที่สีเหลืองบางแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]