โควิด-19 จังหวัดชายแดนใต้จะลดลงหรือไม่?! อีกหนึ่งงานหนักของ "ศอ.บต." ก่อนเปิดประเทศ




โดย..เมือง ไม้ขม


วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลจะเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในจังหวัดที่มีความพร้อมและปลอดภัยเพียงพอต่อการระบาดของ “โควิด-19” ซึ่งถึงแม้จะไมใช่การเปิดประเทศทั้งหมด แต่ก็เป็นการนำร่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นทางการ และเชื่อว่าก่อนที่จะขึ้นปีใหม่ 2565 ไทยจะเปิดประเทศทั้งหมด เพื่อให้ประเทศเดินไปได้ ทั้งในภาคแรงงาน การผลิต ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว 



ถ้ามองโดยภาพรวมจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังเป็นอันดับ “ท็อปเทน” หรือ 1 ใน 10 ของประเทศ กระจุกตัวอยู่ในภาคใต้ถึง 5 จังหวัด โดยมี จ.ยะลา สงขลา ปัตตานี แย่งกันเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ที่รองจากกรุงเทพฯ และถ้าเอาจำนวนประชากรเป็นตัวชี้วัด จะพบว่าการติดเชื้อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยะลา สงขลา และปัตตานี แย่งกันเป็นอันดับ 1 มาเป็นเวลานับเดือนแล้ว 


จนรัฐบาลต้องออกคำสั่งตั้ง ศบค.ส่วนหน้าขึ้น โดยแต่งตั้ง พล.อ.นัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำหน้าที่ ผอ.ศบค.ส่วนหน้า เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการแก้ปัญหาการระบาดที่ยังสูงมากให้ลดลง เพื่อให้สอดรับกับการเปิดประเทศทั้งหมดก่อนสิ้นปี 2564 โดยมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำหน้าที่เป็น รอง ผอ.ศบค.



แน่นอนว่า ในฐานะที่ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานของพลเรือนและรับผิดชอบงานด้านพัฒนา จิตวิทยาสังคม และอื่นๆ ในการเป็นฝ่ายอำนวยการและบริหาร ที่ต้องขับเคลื่อนงานการบูรณาการกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ การที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่ต้องการ จึงเป็นงานหนักอีกงานหนึ่งของ ศอ.บต. โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องของการฉีดวัคซีน ที่ต้องยอมรับความจริงว่า คนส่วนหนึ่งในพื้นที่ยังปฏิเสธการฉีดวัคซีน ทั้งจากความเชื่อเรื่องศาสนาและความเชื่อส่วนตัว ที่จะต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น 


และหลังจากที่เปิดประเทศแล้ว ศอ.บต.ยังมีหน้าที่ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อการขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มรากหญ้า ในเรื่องของแรงงาน สำหรับผู้ที่ว่างงานและเรื่องธุรกิจการค้า ทั้งในตัวเมืองและในชายแดนระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้เดินไปได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ในการเร่งรัดการลงทุนจาก เอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสานต่อโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการค้างอยู่ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างต้องชะงักงัน


ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดโครงการเมืองต้นแบบที่ 1-2-3-4 โดยเฉพาะเมืองต้นแบบที่ 3 ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งยังช้ากว่ากำหนด ทั้งที่เป็นโครงการที่ไม่มีการเห็นต่างจากประชาชนและเอ็นจีโอ และเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ ซึ่งในระหว่างที่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 ศอ.บต.ในฐานะเลขานุการโครงการดังกล่าว ได้มีการขับเคลื่อนจนมีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว ทั้งในเรื่องของแผนแม่บทจราจรและโลจิสติกส์ การทำเวทีรับฟังความเห็นในเรื่องเปลี่ยนสีผังเมือง และการลงนามให้สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมออกแบบที่ตั้งของโครงการ โดยให้คนในพื้นที่รับรู้ ร่วมด้วย กับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 


และมีข่าวจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็น ”ข่าวดี” สำหรับแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยทำงานในประเทศมาเลเซียและเดินทางกลับมา เพราะเรื่องของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมาจำนวนหลายหมื่นคน โดยรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเปิดประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว และประชากรของเขาได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่วางไว้ โดยรัฐบาลมาเลเซียพร้อมที่จะรับแรงงานต่างชาติเข้าประเทศอีกครั้ง



พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ในประเด็นที่รัฐบาลมาเลเซียเตรียมที่จะให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานในประเทศได้ เนื่องจาก มาเลเซียขาดแคลนแรงงาน ทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร ประมง และอื่นๆ ดังนั้น การเปิดประเทศของมาเลเซียจึงยังต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่ง ศอ.บต.ได้ติดตามสถานการณ์ในประเทศมาเลเซียมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านและเป็นประเทศที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก


ศอ.บต.จึงได้เตรียมการรอวันที่มาเลเซียเปิดประเทศ เพื่อที่จะส่งแรงงานจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปทำงานอีกครั้ง ศอ.บต.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของแรงงานและประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลไทยในประเทศมาเลเซียมาโดยตลอดในห้วงที่เกิดปัญหาของโควิด-19 มีการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน มีการสำรวจจำนวนแรงงานที่ต้องการกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซีย มีการขึ้นทะเบียนของแรงงานเอาไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อรอการเปิดประเทศของมาเลเซีย 


ในการส่งแรงงานไปทำงานในประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ ศอ.บต.จะร่วมกับหน่วยงานทุกหน่วย ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง เพื่อให้แรงงานที่เดินทางไปทำงานในมาเลเซียเป็นการเดินทางไปทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่จะยกระดับของแรงงานไทย และจะไม่ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแรงงานเถื่อน ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานที่เข้าไปทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายของมาเลเซียจะถูกนายหน้าเอาเปรียบ ฉ้อโกง ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการเข้าเมืองและใบอนุญาตในการทำงาน 



เรื่องแรงงาน เรื่องคนว่างงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องแก้ไข ซึ่งนอกจากการทำแรงงานเถื่อนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง เพื่อการยกระดับของแรงงานไทยแล้ว ศอ.บต.มีแผนในการผลักดันโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การค้าชายแดน การพัฒนาอาชีพ เรื่องของประมงพื้นบ้าน เรื่องของประมงพาณิชย์นาวี เรื่องของการเกษตร ทุกอย่างมีการเตรียมไว้หมดแล้ว รอเพียงให้สถานการณ์ของโควิด-19 คลี่คลาย มีการเปิดประเทศ และมีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ทุกอย่างก็จะขับเคลื่อนไปได้


ในห้วงของการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต้ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ศอ.บต.ได้บูรณาการกับทุกหน่วยงานในการดูแลประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มของคนชายขอบ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ยากจน และพระภิกษุสงฆ์ มาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปตามงบประมาณของ ศอ.บต. แม้จะไม่ดีที่สุด แต่ก็ทำอย่างเต็มที่ อะไรที่งบฯ ไม่มี อะไรที่ขาดแคลน ก็ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไป และสิ่งหนึ่งที่ ศอ.บต.ดำเนินการมาโดยตลอด คือการวางแผนแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาทุกรูปแบบตามแผนงานที่วางไว้แล้ว ศอ.บต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำงานอย่างเต็มที่ท่ามกลางปัญหาของโควิด-19


ในวันนี้ ในฐานะที่เป็นรอง ผอ.ศบค.ส่วนหน้า เพื่อการร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อลดการติดเชื้อ และให้มีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด ศอ.บต.ได้ประชุมวางแผนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติตามแผนงานของ ศบค.ส่วนหน้าอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่า ก่อนที่จะถึงกำหนดการเปิดประเทศพร้อมกันทุกจังหวัด สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเข้าสู่สภาวะปกติและเปิดประเทศได้อย่างแน่นอน


ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]