ศอ.บต.พร้อมเดินหน้าโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนชายแดนใต้ในปี 2565




ายแดนภาคใต้: ศอ.บต. แถลงผลการดำเนินงานตามมติ กพต. พร้อมเดินหน้าต่อในปี 2565 ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ "กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน"

8 พ.ย. - ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับฟังการแถลงผลงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และโครงการสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนในปี 2565 พร้อมมอบนโยบาย โดยมีคณะรัฐมนตรี เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งตลอดระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา กพต.มีผลงานที่สำคัญหลายเรื่อง เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับประโยชน์และความสุข บรรเทาทุกข์รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังประสบความสำเร็จได้ ในการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ยังได้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่ต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือเป็นพิเศษเร่งด่วน เพื่อให้เติบโต เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อไปในภายภาคหน้า

สำหรับผลสำเร็จและความก้าวหน้าในห้วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.การดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชนอันเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการว่างงาน ขาดอาชีพและรายได้ การเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย และอื่น ๆ ของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรม 2.การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามแผนปฏิบัติการ 3.ด้านการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระยะ 2 สองปีที่ผ่านมา

4.นำร่องปลูกไผ่ในพื้นที่ 10,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 1,500 ราย และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรไม่น้อยกว่าปีละ 72 ล้านบาท 5.การพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย–มาเลเซียทั้ง 9 ด่าน เพื่อยกระดับการบริการและการค้าชายแดน ให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ให้สูงขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ในระยะยาว 6.การขับเคลื่อนสภาสันติสุขตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หมู่บ้านชุมชนและตำบล จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นโครงการต้นแบบการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการแผนงาน โครงการ และงบประมาณไปสู่ประชาชนในระดับหมู่บ้านและตำบลอย่างแท้จริง 

7.การแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำของเกษตรกร ทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยประสานรับซื้อเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการเติมห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วน อาทิ การเพิ่มขึ้นของโรงงานเกษตรแปรรูป โรงงานทุเรียน โรงงานมะพร้าว โรงงานกล้วยหิน โรงงานไผ่ เป็นต้น และ 8.การแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในต้นยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ กพต.ได้ร่วมกันทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กพต.ยังได้มีมติที่สำคัญที่จะวางรากฐานขับเคลื่อนการทำงานในระยะต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุกเรื่องของการพัฒนาได้ประสานเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติสอดคล้องกัน อาทิ การพัฒนาพื้นที่เฉพาะ ผ่านโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้ง 4 เมือง ต้นแบบ การยกระดับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเมืองปศุสัตว์ เมืองปูทะเลโลก เมืองแห่งผลไม้ และเมืองแห่งพืชพลังงาน

รวมทั้งการดูแลสุขภาพและอนามัยแม่และเด็กที่เป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่มากว่า 10 ปี การรณรงค์ปรับเปลี่ยนทัศนคติของการลดการตายที่ป้องกันได้ด้วยการทำวัคซีน และการเข้าถึงบริการของรัฐด้านสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อให้เด็กในพื้นที่ตั้งแต่การเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้พัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงโลกแห่งความรู้และความจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างถูกต้อง

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ในปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนงานตามกรอบการบูรณาการขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แนวคิดจัดข้าราชการรับผิดชอบครัวเรือนยากจน โดยใช้ข้อมูลคนจนทั้ง 5 มิติ จากฐานข้อมูล TPMAP ทั้งด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ เป็นเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง

2.โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นโครงการนำร่องดำเนินการในลักษณะโครงการขยายผลโดยนำความสำเร็จ และถอดบทเรียนของสหกรณ์เลี้ยงโคศรีวิชัยจาก จ.พัทลุงมาเป็นต้นแบบ 3.การดำเนินโครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จ.ยะลา เป็น “Amazean Jungle Trail” โดยจัดการแข่งขันวิ่งตามภูมิประเทศ (trail running) เชื่อมระหว่าง อ.เบตงกับพื้นที่บางส่วนของประเทศมาเลเซีย จัดการแข่งขันมินิมาราธอนระยะต่างๆ ในช่วงเดือน พ.ค. 2565 และมีแผนงานที่จะยกระดับสนามแข่งขันให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติในระยะ 5 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว เชิงกีฬาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่พื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก

การดำเนินการตามมติ กพต. รวมทั้งข้อเสนออื่นๆ ของทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับการตรวจสอบกระบวนการวัดความนิยมและความพึงพอใจจากการทำงานของรัฐ จากความคิดเห็นของประชาชนในทุกแผนงาน โครงการและกิจกรรม โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป จะนำดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นตัวชี้วัดหลักของทุกส่วนราชการ จากผลการสำรวจไตรมาส 3 ของปี พ.ศ. 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.87 กล่าวคือ ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการดำเนินงาน ตามแผนงานโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพต.ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา ซึ่ง ศอ.บต. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ส่งผลทำให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้าในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ และตอบสนอง ต่อการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างสันติสุข ให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติทางกฎหมายและ การบริหารจัดการทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยมอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นศูนย์กลางการประสานงานและดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ตามที่ กพต.ได้เห็นชอบ และแต่งตั้งอนุกรรมการรับผิดชอบ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ

รวมถึงได้ให้ กพต.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายไว้ ซึ่งหลังจากนี้การพัฒนาในระยะต่อไปจะต้องมีความเข้มข้นและเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงวางรากฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงให้ประชาชนและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันในทุกมิติ

ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]