กพต.เร่งพัฒนา 9 ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย รองรับการค้าการลงทุนของ "ภาคใต้ตอนล่าง"



โดย.. เมือง ไม้ขม


ก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องของ “โควิด-19” โครงการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของ ศอ.บต.หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายๆ โครงการคือ โครงการการพัฒนาปรับปรุงด่านพรมแดน เพื่อการยกระดับด่านชายแดนทั้ง 9 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.



แต่ก็ต้องยอมรับว่า โควิด-19 ได้กลายเป็นตัวถ่วงรั้งการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาให้ขยับไปได้ไม่เต็มที่ เพราะ ศอ.บต.ต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับการดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการ ป้องกันการติดเชื้อ และการทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ในช่วงที่โควิดแผลงฤทธิ์อย่างรุนแรง จนพืชผลทางการเกษตร ไม่มีที่ขาย ไม่มีผู้ซื้อ ซึ่ง ศอ.บต.และหน่วยงานต่างๆ ต้องยื่นด้วยเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


แต่งานด้านการพัฒนาทุกโครงการ ภายใต้การบริหารของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ก็ยังขยับไปได้เรื่อยๆ ตามจังหวะของการขับเคลื่อน สำหรับการพัฒนาปรับปรุงด่านชายแดน ซึ่งมีอยู่ 3 ด่านใน จ.นราธิวาส ที่ถือว่าเป็นด่าน ที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายัง จ.นราธิวาส เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการปรับปรุง ด่านชายแดนทั้ง 3 แห่ง ซึ่ง ศอ.บต. ได้รายงานให้ทราบถึงความก้าวหน้าของการแก้ปัญหา



กล่าวคือในส่วนของด่านบูเก๊ะตา อ.แว้ง ซึ่งมีปัญหาเรื้อรังมายาวนานนั้น ในส่วนของการขยายพื้นที่ด่านพรมแดน ได้จัดซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนที่ด่านพรมแดน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นทางน้ำ ที่เชื่อมต่อด้วยแพขนาดยนต์และเรือข้ามฟากนั้น อยู่ระหว่างการปรับปรุง และการจัดหาแพขนานยนต์เพิ่ม 1 ลำ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการข้ามฟาก ซึ่งองค์กรบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาสดำเนินการก่อสร้าง โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ธ.ค.2564 และใช้เวลา 9 เดือนในการก่อสร้าง โดยคาดว่า แพขนานยนต์ลำใหม่ จะให้บริการประชาชนในการข้ามฟากได้ภายในเดือน ก.ย 2565


สำหรับด่านศุลกากร อ.สะเดา จ.สงขลา ที่เป็นด่านพรมแดน ที่เป็นเส้นทางการส่งออกสินค้าที่สำคัญของภาคใต้ และด่านชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่เป็นด่านชายแดนสำคัญ มีการปรับปรุงพัฒนาด้วยการจัดหาเครื่องคัดกรองทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 เพราะเป็นช่องทางสากล ที่มีนักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นที่จะต้อง คัดกรองการเข้า-ออกอย่างเข้มงวด จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย


นอกจากนั้น ที่ด่านพรมแดน อ.สะเดายังมีโครงการจัดหาและติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน เพื่อเป็นการป้องกันและตรวจจับสิ่งของต้องห้าม ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหากมีการติดตั้งแล้วเสร็จ จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะได้ผลทั้งในการป้องกันและการจับกุม รวมทั้งโครงการพัฒนาภูมิทัศน์และการอำนวยความสะดวกแก้ประชาชนที่ผ่านเข้า-ออก



ต้องยอมรับความจริงว่า ด่านชายแดนทั้ง 9 ด่าน ในพื้นที่ของ จ.นราธิวาส 3 ด่าน จ.ยะลา 1 ด่าน จ.สตูล 2 ด่าน และ จ.สงชลาอีก 3 ด่าน ทุกแห่งยังต้องปรับปรุงพื้นที่ เครื่องมือเครื่องใช้ สถานที่ เพื่อพัฒนาให้เป็นด่านชายแดนที่ทันสมัย เชื่อมโยงกันได้ทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศ เพื่อให้มีศักยภาพ ทั้งในด่านการส่งออก ธุรกิจการค้าชายแดน การค้าขายในพื้นที่ การเดินทางข้ามประเทศ และการท่องเที่ยว


หากมีการปรับปรุง พัฒนาให้ด่านชายแดนทั้ง 9 แห่งทันสมัย และในห้วงเทศกาลวันหยุดไม่เกิดความล่าช้าจนกลายเป็นปัญหาของผู้เดินทางเข้า-ออก จะสร้างมูลค่าเพิ่มในทางการค้าชายแดน ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่คนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่า ในปี 2565 หลังการเปิดประเทศของมาเลเซีย สิงคโปร์ และ อื่นๆ จะมีการเดินทางเข้า-ออก ทั้งเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก


ส่วนตัวเลขในภาพรวมในห้วงของการมีการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ โดยให้ส่งออกและนำเข้าสินค้าได้อย่างเดียวนั้น มูลค่าการค้าชายแดนของพื้นที่ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าและการส่งออกรวม 586.374.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่ 457.263.03 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.23 ซึ่งหากปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและด้านความมั่นคง จะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เป็นการยกระดับเศรษฐกิจการลงทุนในภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สูงขึ้น


ในการเดินทางมาติดตามความก้าวหน้าของ พล.อ.ประวิตรในครั้งนี้ นอกจากเรื่องของด่านชายแดนใน 9 แห่งเพื่อให้เป็นไปตามมติของ กตพ. ในการประชุมครั้งที่ 3 /2564 แล้ว ยังได้ติดตามในเรื่องของ ท่าเรือน้ำลึก เรื่องของเมืองต้นแบบ ซึ่งเป็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการเชื่อมโยง ระหว่างเมืองต้นแบบ ที่ 1-เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลาด้วย



สำหรับเมืองต้นแบบที่ 4 หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ความก้าวหน้าล่าสุดคือ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อการออกแบบการ จราจรและโลจิสติกส์ใน อ.จะนะ เพื่อการเชื่อมโยงการจราจรและโลจิสติกส์ในภาพรวม โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโยยีพระจอมเกล้าฯ และมหาวิทยาลับเทคโนโลยีสุรนารีไปแล้ว และอยู่ในกระบวนการเบื้องต้นของการออกแบบ


ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการเปลี่ยนสีผังเมือง จากเพื่อการเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม ในพื้นที่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อยู่ระหว่างการออกแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ส่วนการสร้างความรับรู้และทำความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องของอุตสาหกรรม ที่จะเกิดขึ้นในโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ ศอ.บต.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้จัดทำและลงพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน


ด่านชายแดนทั้ง 9 แห่งจะต้องมีความพร้อมในการเปิดประเทศครั้งใหม่ และต้องเป็นประตูเพื่อรองรับการค้าการลงทุน ที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งในงบประมาณปี 2565 ทุกด่านจะมีการพัฒนา มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองทั้งการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและการเดินทางของประชาชนที่ต้องดีกว่าเดิม


และในอนาคตเมื่อด่านทั้ง 9 ยกระดับสู่ความเป็นสากล สิ่งที่ต้องตามมาของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ท่าเรือน้ำลึกเพื่อการส่งออกแห่งที่ 2 และเมืองต้นแบบที่ 1-4 โดยเฉพาะเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อรองรับเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุด สำหรับรองรับนักศึกษาที่จบการศึกษา และประชาชนที่ว่างงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]