พลิกโฉมการพัฒนาชายแดนใต้ให้พ้นความยากจน ดึง 'ปราชญ์ชาวบ้าน' เสนองานวิจัยกำหนดแนวทาง


โดย.. เมือง ไม้ขม


ขึ้นปีงบประมาณใหม่ ”ไฟใต้” เบ่งบานในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทั้งใน อ.ยี่งอ บาเจาะ จะแนะ และสุไหงปาดี ลามไปถึงการวางระเบิดเสาไฟฟ้าบนถนนสายสุไหงปาดี-สุไหงโก-ลก และเชื่อว่า การก่อเหตุร้ายจะลุกลามเข้ามายัง จ.ปัตตานีและพื้นที่อื่นๆ ตลอดทั้งเดือน ต.ค. 2564 นี้ นี่เป็นการ ”วิเคราะห์” สถานการณ์ไฟใต้แบบรายเดือน ซึ่งจะมีการก่อเหตุทุกเดือน ก็เท่ากับ ”ไฟใต้” ยังเกิดขึ้นตลอดไป และหากยังไม่มี “นโยบาย” ที่ถูกต้องมาเป็นตัวกำหนด “ไฟใต้” ก็จะเป็น ”สงครามประจำถิ่น" ตลอดปีและตลอดไป


นโยบายในการดับไฟใต้ ที่ดำเนินมาทั้งหลายปีมีหลักๆ ด้วยกัน 3 เรื่องใหญ่ ด้านแรกเป็นการดับไฟใต้ด้วยการพัฒนา ซึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่มีบทบาท ในการ “บูรณาการ” กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน


ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทำหน้าที่ในด้านการรักษาความสงบ ป้องกัน ปราบปราม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นมีอยู่ 2 แนวทาง ที่ทำการขับเคลื่อน เพื่อการดับไฟใต้ นั่นคือการใช้วิธีการเจรจากับฝ่ายแบ่งแยกดินแดน ที่มี ”บีอาร์เอ็น” เป็นผู้นำ ซึ่งการใช้แนวทาง ”เจรจา” ทำกันมานานหลายสิบปีแล้ว ที่เป็นการเจรจาและเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้เริ่มตั้งแต่ 10 ปีก่อน สมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี



และอีกแนวทางหนึ่งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือการดับไฟใต้ ด้วยยุทธวิธีทางทหารในพื้นที่ ซึ่งมีการก่อความไม่สงบ เช่นการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหากมีการต่อสู้ก็จบลงด้วยการวิสามัญฯ ซึ่งเป็นความชอบธรรมทางกฎหมาย


วันนี้จะติดตามการดับไฟใต้ก็จะเห็นว่า มีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้ง 3 แนวทางนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือการ ”ยุติ” สงครามแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้น และคาราคาซังนานนับ 100 ปี


งานด้านการใช้การพัฒนาเพื่อดับไฟใต้ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขับเคลื่อน อยู่นั้น มุ่งเน้นไปที่ปัญหาของความยากจน ความเหลี่ยมล้ำในสังคม ด้วยการพัฒนาอาชีพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชี่วิตของคนในพื้นที่ ดึงกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนให้มากที่สุด เพื่อให้คนว่างงานได้มีงานทำ พัฒนาการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่



ปีงบประมาณใหม่นี้ ศอ.บต.ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบพลิกโฉมหน้า โดยการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทำข้อมูลประชากรในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในข่ายของคนจน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงครบถ้วน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีข้อมูลจำนวนคนจน จำนวนครัวเรือนที่ยากจน แต่ยังไม่มีการลงรายละเอียดว่า เป็นความจนในด้านไหน


เช่น จนในด้านอาชีพ จนในด้านการศึกษา จนในด้านสุขภาพ จนในด้านของรายได้ จนในด้านสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นคนจน 5 ประเภทของภาคใต้ และจะมีฐานข้อมูลจากเลข 13 หลักและเลขที่บ้านเป็นหลักฐาน เพื่อง่ายต่อการดำเนินการในการแก้คนของคนจนที่ค้นเจอ เป็นการค้นหาคนจนแบบชี้เป้า คนจนอยู่ที่ไหน ต้องไปค้นหาให้เจอ และต้องตั้งโจทย์ว่า สาเหตุของความจนมาจากอะไร และจะแก้อย่างไร


ศอ.บต.ได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นผู้ดำเนินการในการลงพื้นที่เพื่อการค้นหาคนจนแบบชี้เป้า แบบต้องหาให้เจอ ต้องมีหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3 แห่งได้ดำเนินการแล้วใน จ.นราธิวาส ในพื้นที่ อ.เมือง สุไหงปาดี และสุคิริน


ข้อมูลทั้งหมดจะส่งต่อให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลที่ ถูกต้อง สมบูรณ์ที่สุด และนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา โดย ศอ.บต.เป็น”แม่งาน” ในการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทุกกระทรวง มีกำลังสำคัญในพื้นที่เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และพัฒนาชุมชน เป็นต้น โดยจะให้ความสำคัญกับทุนเดิมในพื้นที่ซึ่งมีอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากทุนเดิม ก็จะทราบว่าควรจะพัฒนาอย่างไร และจะนำไปสู่แบบบูรณาการประจำปีของงบประมาณในปี 2565 ซึ่งต่อไปหน่วยงานในพื้นที่หน่วยไหนทำอะมีแผนพัฒนาอย่างไร แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ศอ.บต.ต้องรับรู้และมีการบูรณาการด้วยกัน มิใช่ต่างหน่วยต่างทำ ต่างคนต่างเดิน และซ้ำซ้อนทับซ้อนกันอย่างที่เคยเกิดขึ้น


การพลิกโฉมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติใหม่คือ จะใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ให้มากขึ้น โดยสำนักวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเป็นหน่วยงานที่จัดหางบประมาณ เพื่อให้คนในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้เป็นปัญญาชน เป็นปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ และอื่นๆ ทำการวิจัยในปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาของพื้นที่ โดยให้คนในพื้นที่เป็นผู้วิจัยและนำเสนองานวิจัยให้ ศอ.บต. โดย ศอ.บต.เป็นผู้กำหนดเงื่อนเวลาของงานวิจัยต้องใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ยกตัวอย่างเช่น ไปวิจัยว่า ในสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคของนิว นอร์มอล เราจะอยู่อย่างไร เป็นต้น



ต่อไปนี้ปัญหาของคนในพื้นที่จะเป็นหน้าที่ของคนในพื้นที่เป็นผู้กำหนด โดย ศอ.บต.กับ วช.เป็นผู้วางกรอบชี้เป้าให้ บ้านเกิดของท่านจะเป็นอย่างไร ท่านต้องการเห็นอย่างไร ท่านจะต้องมีส่วนในการกำหนด หน้าที่ของ ศอ.บต. คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเจ้าภาพเพื่อ ขับเคลื่อนการบูรณาการแบบจริงๆ จัง


แต่ในการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเดินหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้โฉมใหม่ต้องอิงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ แผนแม่บท พหุวัฒนธรรม และปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่องการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เป็นด้านหลัก


นี่คือ บางส่วน บางตอน ที่เป็นการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะใช้นโยบายพลิกโฉมจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการพัฒนา เพื่อที่จะบอกว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะจบอย่างไรอยู่ที่คนในพื้นที่ต้องการ


สำหรับในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น ปีงบประมาณใหม่ในนโยบายเดิม เพราะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าย้ำมาโดยตลอดว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” ดังนั้นจึงยังคงเดินหน้าในเรื่องของ การนำคนกลับบ้าน การใช้เวทีของ สล.2 และ สล.3 ที่มีนโยบาย ”นักรบพบรัก” กล้วย 3 หวี แอปเปิ้ล 5 ผล ซึ่งเป็นไอเดียของ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ที่เป็นผู้กำกับดูแลศูนย์สันติวิธี ด้วยการเน้นการพูดคุยในพื้นที่เป็นด้านหลัก



ส่วนการเจรจากับตัวแทนของบีอาร์เอ็น ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งมีการยุติไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 โดยมีเพียงการพูดคุยนอกรูปแบบระหว่างกันนั้น ก็ต้องฟังดูว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงคนใหม่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม จะมีนโยบายอะไรใหม่ๆ หรือยังเป็นนโยบายเดิมที่กำกับการแสดงโดยแม่ทัพเมา พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตหัวหน้าคณะพูดคุย ซึ่งปฏิเสธที่จะไม่คุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆ ยกเว้น บีอาร์เอ็น เท่านั้น


แต่กลุ่มบีอาร์เอ็น ที่มีรายชื่อในโต๊ะของการพูดคุย ณ วันนี้ ซึ่งสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น อาจจะเป็นบีอาร์เอ็นก็จริง แต่เป็นบีอาร์เอ็น ที่ไม่มีตำแหน่งแห่งหนในขบวนการแล้ว ดังนั้นการเจรจากับบีอาร์เอ็นกลุ่มนี้ ก็อาจจะไม่มีมรรคมีผล ที่จะทำให้ไฟใต้ยุติลงได้ด้วยการเจราจาก็เป็นได้


หรือสุดท้ายแล้วการดับไฟใต้ยังต้องใช้บริการกำลังเจ้าหน้าที่และอาวุธในการใช้ความรุนแรงภายใต้อำนาจของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จนกว่าบีอาร์เอ็นจะอ่อนแรงหรือจนกว่าบีอาร์เอ็นจะสร้างมวลชนได้ในจำนวนที่ต้องการและสร้างสถานการณ์ให้ต่างชาติเข้ามาเป็นคนกลางในการตัดสินปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้


ก็ต้องจับตามองว่า การใช้แผนพลิกโฉมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต.จะทำให้มวลชนละทิ้งขบวนการบีอาร์เอ็นได้หรือไหม่ เพราะการแพ้-ชนะในสงครามแบ่งแยกดินแดนนั้น มวลชนคือผู้ชี้ขาด ถ้าบีอาร์เอ็นไม่มีมวลชนสนับสนุน ไม่มีงบประมาณ ไม่มีที่พักพิง ไม่ผู้ส่งเสบียงอาหาร ก็เหมือน ”ตะเกียงที่ขาดน้ำมัน" สุดท้ายก็ย่อมที่จะดับไปเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]