ชายแดนภาคใต้: ศอ.บต.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม วิพากษ์กรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามมาตรา 9 (8) (9) แห่ง พ.ร.บ.การบริหารราชการ จชต. ด้านรองเลขาฯ ย้ำหน่วยงานภายในร่วมบูรณาการคัดเลือกให้เกิดความชอบธรรม
22 ธ.ค. - รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมวิพากษ์กรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามมาตรา 9 (8) (9) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ผ่าน Video Conference เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีนายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผอ.สถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ผู้แทนสำนัก/กอง ศอ.บต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ศอ.บต.
และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย อาทิ การทบทวนสวัสดิการและมาตรการเสริมสร้างขวัญกำลังใจที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดลักษณะอันพึงประสงค์ที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นอกจากนี้ในส่วนของสถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ได้ยกร่างกรอบแนวทางในการคัดสรรกลั่นกรอง กำกับดูแล และพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรอบแนวทางทบทวนสวัสดิการ มาตรการเสริมสร้างขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนฐานของการดำเนินงานทางวิชาการ เพื่อพิจารณากรอบแนวทางและกลไกการดำเนินงานดังกล่าวในเชิงนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังได้สรุปทบทวนการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมและมาตรการเสริมสร้างขวัญกำลังใจสำหรับเจ้าหน้าของรัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้มีแผนการดำเนินงานระยะสั้น (พ.ศ.2565–พ.ศ.2566) การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษนอกเหนือจากโควตาปกติ การจัดทุนการศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน การประกันชีวิต การสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ แผนการดำเนินงานระยะกลาง (พ.ศ.2567–2568) กองทุนสวัสดิการ (หรือการช่วยเหลือในลักษณะอื่น) การให้โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง การบรรจุทายาทเข้าทำงาน แผนการดำเนินการระยะยาว (พ.ศ.2569–พ.ศ.2570) การนับระยะเวลาราชการทวีคูณให้นำไปคำนวณบำเหน็จบำนาญได้ และค่าตอบแทนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 ด้วย
รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ กล่าวเน้นย้ำให้ทุกสำนัก/กอง ศอ.บต. ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ และคัดเลือกบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความชอบธรรม ไม่ลำเอียง และพิจารณาตามความสามารถและความเหมาะสมให้ตรงตามคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งร่วมกันบูรณาการช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น: