“พูดคุยสันติสุข” ที่อาจเป็นได้แค่สุกๆ ดิบ เพราะตัวแทนบีอาร์เอ็นยังไม่ใช่ ”ของจริง”
บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
หลังจากที่ว่างเว้นมา 2 ปี เพราะปัญหาการระบาดของโควิด-19 ”โต๊ะการพูดคุยสันติสุข” ที่ฝ่ายไทยเป็นผู้ให้คำนิยาม ในขณะที่บีอาร์เอ็นเรียกว่า ”เจรจาสันติภาพ” ก็ได้เริ่มขึ้นอีกเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยฝ่ายไทยนำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. โดยมีคณะพูดคุยฝ่ายไทย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือ พล.ท.ธิรา แดหวา รองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้มีฉายา ”จ่ายแล้วจบ” อยู่ในคณะด้วย
ส่วนฝ่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนน่าจะประกอบด้วยนายหิพนี มเร๊ะ หรือ อานัส อับดุลเลาะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย เจ๊ะมูดอ มะรือสะ หรือ “ตะมะยูง” ดอรอแม อูมา หรือ อับดุลเลาะห์มาน ปาลาวี มูหะหมัดนาฟี ดอเลาะ (อิหม่านบันนังสตา ) อาหมัดมูริส ลาเต๊ะ (อุสตาซมูระ สาวอ) มูหมัดไซนุง กาเต๊ะ (มะตูมอ หรือ มะ สถานทูต) และวาเหะ หะยีอาแซ เลขาธิการใหญ่ โดยมีตัน สรี อับดุลรอฮีม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีต ผบช.ตร. สันติบาล ตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการนั่งโต๊ะพูดคุย
หาก ”รีเพลย์” กลับไปจะพบว่า ในเวลา 10 ปีของการตั้งโต๊ะพูดคุยนั้น ฝ่ายไทยเปลี่ยนหัวหน้าคณะไปแล้ว 5 ชุดด้วยกัน เริ่มต้นที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการฝ่ายความมั่นคง สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” โดยการจัดการของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร“
ส่วนขบวนการแบ่งแยกดินแดนเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยไปแล้ว 3 คณะ โดยคณะแรกเป็น "คณะรวมดาว” คือมีตัวแทนของเกือบทุกขบวนการแบ่งแยกดินแดนเข้าร่วม ใช้ชื่อว่าเป็นการ “เจรจาสันติภาพ” แต่หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ และเข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้เปลี่ยนเป็นการ "พูดคุยสันติสุข” และเปลี่ยนคณะพูดคุย ที่เป็นการรวมดาวเป็นการพูดคุยกับกลุ่ม ”มาราปาตานี” แทน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า “มาราปาตานี” ไม่ใช่ตัวแทนของแกนนำบีอาร์เอ็น ไม่มีอำนาจในการที่จะ ”เยส โน โอเค บนโต๊ะการพูดคุย” ได้
จนถึงสมัยที่ ”บิ๊กเมา” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ได้ยื่นเงื่อนไขกับฝ่ายอำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซียว่า จะไม่พูดคุยกับมาราปานี แต่จะพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่เป็น ”ของจริง” เท่านั้น
จึงเป็นที่มาของคณะพูดคุยในวันนี้ที่มี หิพนี มะเร๊ะ ถูก “อุปโลก” ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยภายใต้การกำกับของผู้มีอำนาจในรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ที่นำเอากลุ่มสมาชิกระดับนำของบีอาร์เอ็น 6 คน โดยให้หิพนี มะเร๊ะ เป็นหัวหน้าคณะ
นี่เป็นเหตุให้ฝ่ายความมั่นคงของไทย ”ดีอกดีใจ” อย่างมากว่า การพูดคุยครั้งนี้เป็นการพูดคุยที่ถูกฝาถูกตัว เพราะฝ่ายที่มานั่ง ”ป๋อหลอ” บนโต๊ะการพูดคุยเป็น "บีอาร์เอ็น" แน่นอน
แต่...ด้วยเล่ห์เหลี่ยมของบีอาร์เอ็น ก็ทำให้ผู้ที่ ”รู้ลึก” และ ”รู้จริง” เห็นในสายสนกลในของบีอาร์เอ็น เพราะหลังจากที่มีการเปิดตัวแกนนำทั้ง 6 คน ที่มี หิพนี มะเร๊ะ เป็นผู้นำคณะ ต่อสาธารณชนแล้ว บีอาร์เอ็นก็ประกาศปลดทั้ง 6 คนออกจากแกนนำของขบวนการ ให้เป็นเพียงสมาชิกของบีอาร์เอ็น ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับกลุ่ม “มาราปาตานี “ แม้ว่า วันนี้หัวหน้าคณะพูดคุยจะเชื่อว่า หิพนี มะเร๊ะ คือตัวแทนของ ดุลเลาะ แวมะนอ แกนนำฝ่าย “อูลามา” ของบีอาร์เอ็นก็ตาม
วันแรกของการพูดคุย ก็คือ ”เรื่องเก่า” เช่น การขอให้ลดความรุนแรงในพื้นที่ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่ และอาจจะมีเรื่องที่ฝ่ายไทยไม่แถลง เช่น ขอให้เลิกการตั้งด่าน และการปิดล้อมตรวจค้น ซึ่งก็จะเห็นว่า เป็นหัวข้อเดิมๆ เหมือนการพบกัน 2 ครั้ง ระหว่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับฝ่ายบีอาร์เอ็น เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพูดคุยแบบ “พายเรือในอ่าง” เช่นเดียวกับการพูดคุยในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในลักษณะของ ”วงกลม” มาโดยตลอด
อีกประเด็นที่ต้องตั้งเป็นคำถามในวันนี้คือ ทำไมฝ่ายความมั่นคงต้องกำหนดว่า ”ไฟใต้จะสงบในปี 70" ทำไมจึงไม่เป็นในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือให้สงบโดยเร็วที่สุด เพราะนอกจากการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นแบบพายเรือในอ่าง และการพูดคุยในพื้นที่แบบวงกลมแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้ไฟใต้ยุติหรือ ”ดับ” ได้
เช่นในพื้นที่ ผบ.ฉก.ต้องพูดคุยกับแกนนำระดับจังหวัดของบีอาร์เอ็น ในระดับอำเภอ ผบ.ฉก.อำเภอต้องคุยกับนายอำเภอของบีอาร์เอ็น และในระดับของหัวหน้าคณะพูดคุยอย่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ต้องพูดคุยกับ เปาะนิ อาซิ ฆอซารี เด็ง แวกาจิ และ ดุลเลาะ แวมะนอ ที่เป็น ”ของจริง”ของบีอาร์เอ็น ไม่ใช้คุยกับอดีตแกนนำ ที่มาเลเซียดูแลและจัดให้มีการพูดคุยอย่างที่เป็นอยู่
และในระดับ สล.1 หรือนายกรัฐมนตรีต้องพูดคุยโดยตรงบนโต๊ะกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เช่นเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรี ”มาหาเดร์” ของมาเลเซีย คุยกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพื่อให้ช่วยเหลือในการปราบปราม แก้ปัญหาขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งเป็นปัญหาของมาเลเซีย พร้อมจ่ายเงิน 2,000 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทน ซึ่งรัฐบาลไทย กองทัพไทย ในขณะนั้นได้ดำเนินการสลายกองกำลังติดอาวุธ ”โจรจีน” ที่เป็น “เสี้ยนหนาม” ตำเท้าของมาเลเซียสำเร็จ สร้างความสงบสุขให้แก่มาเลเซียจนถึงปัจจุบัน เสียดายก็แต่รัฐบาลในขณะนี้ไม่ได้ต่อรองให้มาเลเซีย “สลาย” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่เป็น ”เม็ดกรวดในรองเท้า” ที่ทิ่มตำคนไทยอยู่ในขณะนี้
ไม่ได้ ”ติเรือทั้งโกลน” แต่ก็ไม่เชื่อว่าการพูดคุยในนิยามของคำว่าสันติสุขระหว่างคณะฝ่ายไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นแค่อดีต ผบช.สันติบาล ที่ไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงในการที่จะจัดการกับบีอาร์เอ็น แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่รัฐบาลมาเลเซียบงการให้การพูดคุยเป็นไปตามบทบาทที่มาเลเซียต้องการ
ในขณะที่บีอาร์เอ็นก็เดินเกมการพูดคุยตามบทบาท ที่องค์กรต่างประเทศอย่าง “เจนีวาคอลล์”ซึ่งเป็น”พี่เลี้ยง” ในขณะที่ในพื้นที่ก็มี ”ไอซีอาร์ซี” เป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มที่ทำหน้าที่ ”ปีกทางการเมือง” ให้บีอาร์เอ็น เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการของทั้งองค์กรต่างชาติและองค์กรก่อการร้ายอย่างบีอาร์เอ็น
วันนี้ฝ่ายที่ ”แฮปปี้” ที่สุดกับการพูดคุยคือ มาเลเซีย เพราะได้จัดการให้โจรแบ่งแยกดินแดนคุยกันเอาเองกับตัวแทนประเทศไทย ส่วนผลจะลงเอยอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลว เป็นเรื่องของฝ่ายไทยและโจรแบ่งแยกดินแดน มาเลเซียไม่เกี่ยวและลอยตัวอยู่เหนือปัญหาทั้งหมด
ส่วนบีอาร์เอ็นก็เดินเกมการพูดคุย เพื่อการยกระดับและใช้งานไอโอ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง และก่อเหตุความรุนแรงเพื่อหล่อเลี้ยงสถานการณ์จนกว่าจะบรรลุเงื่อนไขที่ตนเองต้องการ เหลือเพียงฝ่ายไทย ที่ต้องอดทนเดินโขยกเขยกแบบ ”คุดทะราดเหยียบกรวด” ต่อไป เพราะยิ่งพูดคุยยิ่งไม่อาจที่จะเอา ”เม็ดกรวดในรองเท้า” ออกได้เลย
ไม่มีความคิดเห็น: