"มวยรอง" ปชป.งัดความเก๋าทางการเมืองแซงโค้งสุดท้ายเลือกซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6
รายงานพิเศษ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ หลังการเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สงขลาในเขตเลือกตั้งที่ 6 ระหว่างผู้สมัครหมายเลข 1 น.ส.สุภาพร กำเนิดผล จากพรรคประชาธิปัตย์ และหมายเลข 3 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ จากพรรคพลังประชารัฐ กระแสการตอบรับของคนในพื้นที่ รวมทั้งนักวิจารณ์การเมือง ต่างให้น้ำหนักในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปยังนายอนุกูลมากกว่า น.ส.สุภาพร และแม้แต่ 2 วันสุดท้ายก่อนการลงคะแนน กระแสของนายอนุกูล ผู้สมัครหมายเลข 3 ยังมาแรงในหลายพื้นที่ ยกเว้น อ.คลองหอยโข่ง ที่เป็น ”ฐานกำลัง" ของนายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ “นายกชาย” ส.ส.เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ผู้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง เขต 6 และที่สำคัญเป็นสามีของ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ผู้สมัครหมายเลข 1
เหตุผลที่กระแสของผู้สมัครหมายเลข 3 พรรคพลังประชารัฐ ถูกปั่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะล้มผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้มาจากปัจจัยดังนี้ 1.เป็นคนในพื้นที่ตามสโลแกนการหาเสียง “คนพื้นที่ คนบ้านเรา” ในขณะที่ น.ส.สุภาพร ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีชื่อทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งที่ 6 ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่มีภาพ น.ส.สุภาพรในการ หย่อนบัตรเลือกตั้ง 2.ผู้สมัครหมายเลข 3 ลงสมัครในนามพรรคใหญ่คือ "พรรคพลังประชารัฐ" ที่มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะ”อำนาจรัฐ” ที่ถูกมองว่า ใช้ได้ผลในการเลือกตั้งซ่อมทุกเขตเลือกตั้ง และล่าสุด “ล้มช้าง” สร้างความ”อับอาย” ให้ “พรรคประชาธิปัตย์” มาแล้ว ในการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งของนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเดือน มี.ค. 2564
3.เป็นคนหนุ่ม มีความรู้ มีเงินทุน มีพ่อที่เป็น “คหบดี” รายใหญ่ของ จ.สงขลา เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่น อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสะเดา มีอาเป็นสมาชิกสภา อบจ.เขต อ.สะเดา 4.มีนายอนุมัติ อาหมัด อดีต ส.ว. นักธุรกิจใหญ่ใน อ.สะเดา คนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผย และ 5.มีนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่ให้การสนับสนุน ทำให้คนในพื้นที่ จ.สงขลา มองว่า ”นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์" มี ”แต้มต่อ” ทางการเมืองกว่า น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ผู้สมัครหมายเลข 1 จากพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีการมองว่า ”จุดอ่อน” ของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์คือ 1.ผู้สมัครของพรรคไม่ใช่คนในพื้นที่ มีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะเป็นคนที่มีภูมิลำเนาใน จ.สงขลาตามกฎหมายเท่านั้น 2.เป็นภรรยาของนายเดชอิศม์ ขาวทอง ซึ่งมีการโจมตีมาโดยตลอดว่า เป็นการสร้างฐานการเมืองใน จ.สงขลา ในลักษณะเป็น ”สภาผัวเมีย”และเป็นครอบครัวการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ นายเดชอิศม์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะส่งลูกชายลงสมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.สงขลา ในการเลือกตั้งใหญ่ 3.มีการมองว่า นายเดชอิศม์และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเงินทุนในระดับ 100 ล้านบาท เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ และ 4.นายเดชอิศม์และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีอำนาจรัฐเพื่อสั่งการให้สนับสนุนผู้สมัคร
โดยเฉพาะก่อนเลือกตั้ง 2 วัน ในวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งเป็นการเปิดปราศรัยนัดสุดท้ายของ “พลังประชารัฐ” มีการระดมผู้มีอำนาจรัฐมาประชุมที่สวนอาหารแห่งหนึ่งใน อ.สะเดา มีการปิดสวนอาหารแห่งนั้น เพื่อตรวจสอบแผนการสุดท้ายเพื่อ “สกัด” มิให้ฝ่ายตรงข้ามใช่เงินในการทุบใน "คืนหมาหอน” เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการสร้างความเชื่อว่า ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ”ปิดประตูแพ้” อย่างแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ว่า พลังประชารัฐจะชนะไม่ต่ำกว่า 6,000 คะแนน โดยเชื่อมั่นว่า ในเขตเทศบาลสะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ “พลังประชารัฐ” ต้องชนะแบบถล่มทลาย เป็นการชนะในพื้นที่ใหญ่ และแพ้เล็กน้อย ในพื้นที่เล็กอย่าง อ.คลองหอยโข่ง
แต่สุดท้ายเมื่อคะแนนในเขตเทศบาลไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังเพราะ”นิพนธ์ บุญญามณี” ซึ่งมี “พันธมิตรทางการเมืองท้องถิ่น" ยันเอาไว้ได้โดยการใช้นโยบายแพ้ให้น้อยที่สุด และทำได้สำเร็จ จึงกลายเป็นการดับฝันของพลังประชารัฐในที่สุด
แต่...โดยข้อเท็จจริงของการหาเสียง บางครั้งกระแสและกระสุน เพียง 2 อย่างยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การบริหารจัดการในการหาเสียงหรือยุทธศาสตร์ของการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่กำหนดยุทธศาสตร์ต้องมีประสบการณ์ทางการเมือง
ประเด็นนี้ พรรคพลังประชารัฐด้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ตามปัจจัยดังนี้ 1.นายสุชาติ ชมกลิ่น ผอ.เลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ สู้นายเดชอิศม์ ขาวทอง จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ เพราะนายสุชาติไม่รู้จัดพื้นที่และไม่ใช่คนใต้ ไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของคนใต้
2.เวทีปราศรัยยังมีความสำคัญสำหรับคนใต้ ”ขุนพล” ในการปราศัยของพรรคประชาธิปัตย์มีความเหนือชั้นมากกว่า โดยเฉพาะ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ และที่สำคัญในการปราศรัยโค้งสุดท้าย นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค นอกจากจะทุ่มสุดตัวเด็ดขาดและดุเดือดแล้ว ยังงัดเอาผลงานการพัฒนา อ.สะเดา ในสมัยที่เป็นนายก อบจ.สงขลา ชี้ให้ประชาชนเห็น และที่เป็น ”หมัดเด็ด” คือการใช้คำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เรื่อง “คนจน คนรวย” เป็นการ ”ย้อนศร” สร้างคะแนนนิยมให้เกิดขึ้นใน 2 วันสุดท้าย จน”พลิก”สถานการณ์จากผู้ตามหลังให้กลายเป็นผู้มีคะแนนนำในโค้งสุดท้าย
และ 3.หัวคะแนนของ ”ประชาธิปัตย์” มีความช่ำชองเกมการหาเสียง การควบคุมเสียง ของผู้มีสิทธิออกเสียงได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่มีการ ”เบี้ยว”เกิดขึ้น ในขณะที่หัวคะแนนของหมายเลข 3 มีความเขี้ยวไม่เพียงพอ และหลายพื้นที่ไม่จริง ที่สำคัญมีความเชื่อมั่นในกระแสของผู้สมัครหมายเลข 3 ที่มีการกล่าวถึง มีการตอบรับจากคนรุ่นใหม่ ทำให้เชื่อว่า ไม่ต้องเดินมากก็ชนะ
แหล่งข่าวจาก “พลังประชารัฐ” ในพื้นที่ เปิดเผยว่า ในพื้นที่เขต 6 มีค่ายทหารตั้งอยู่ 2 แห่งใน อ.คลองหอยโข่ง และมีค่าย ตชด.อยู่ 2 แห่งใน อ.สะเดา มีสถานีตำรวจ 4 แห่ง ซึ่งผู้สนับสนุนหมายเลข 3 เชื่อว่า มีการใช้อำนาจรัฐสั่งการให้เทคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคได้แน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง ที่เป็นฐานของนายเดชอิศม์ ผอ.เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐแม้จะแพ้ แต่ก็ไม่ถึงกับ ”ยับเยิน”
ในขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งถูกมองว่าเป็น”มวยรอง” มาโดยตลอดนั้น ใน 2 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นอกจากจะได้กระแสเรื่อง ”คนคน-คนรวย” ที่เกิดจากการปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัสมาเป็นตัวช่วยแล้ว ยังใช้การ”อ้อน” ด้วยการให้หัวคะแนนแบ่งคะแนนจากประชาชนที่มีความคิดที่จะเทคะแนนให้หมายเลข 3 ด้วยการเข้าถึงครัวเรือน เพื่อขอ ”แบ่งครึ่ง” โดยอ้างว่า ถึงไม่ชนะก็อย่าให้แพ้มาก ซึ่งวิธีการนี้ใช้ได้ผลสำหรับ ”คนใต้” ดังนั้น คะแนนส่วนหนึ่งที่ผู้มีสิทธิ์คิดที่จะเททั้งหมดให้หมายเลข 3 ก็กลายเป็นคะแนนบางส่วนของผู้สมัครหมายเลข 1 โดยปริยาย
และที่สำคัญในการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ทุกครั้งเรื่องการพนันมีส่วนของการแพ้-ชนะไม่มากก็น้อย ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเล่นได้เสียในวงเงินหลายร้อยล้านบาท สิ่งที่ทำให้ “เซียน” เชื่อว่า ผู้สมัครของ ปชป.แพ้เพราะไม่มีคนของ ปชป.ที่เป็น "เซียน" คนไหนกล้าที่จะ ”ต่อ” มีแต่การ ”รอง” อย่างเดียว ซึ่งสุดท้าย ผู้ที่เล่น ”รอง” ไว้รับทรัพย์ไปหลายร้อยล้านจากการเลือกตั้งครั้งนี้
ทั้งหมดคิดเบื้องหลังของการ ”แพ้-ชนะ” ของการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 6 จ.สงขลา ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งผู้แพ้และชนะกำลังเดินสายขอบคุณประชาชนในเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเจ้าของคะแนนเสียง สำหรับผู้ชนะคือต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่วนผู้แพ้กลับไปทำการบ้านเพื่อแก้มือในสมัยหน้า เพราะคะแนนเสียงที่ผู้แพ้ได้ไปจากประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 6 ในครั้งนี้เป็นคะแนนเสียงที่มาก เพียงแต่ยังไม่มากพอสำหรับการเป็นผู้ชนะเท่านั้นเอง และนี่คือการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่เสียงของประชาชนยังเป็น ”เสียงสวรรค์” สำหรับ ”นักเลือกตั้ง” ทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น: