ศึกนี้แพ้ไม่ได้! เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลาบทพิสูจน์ฝีมือแม่ทัพภาคใต้ ปชป.ป้ายแดง
มีการกล่าวกันว่า.. สำหรับสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 6 จ.สงขลา ในครั้งนี้ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล หรือน้ำหอม ผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ “แพ้ได้” แต่สำหรับ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งห้อยท้ายด้วยตำแหน่ง ส.ส.เขต 5 จ.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ของประชาธิปัตย์ “แพ้ไม่ได้” เด็ดขาด
ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งส่งผู้สมัครลงแข่งขันทุกสนามที่มีการเลือกตั้งซ่อม และเป็น “ที่นั่ง” ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่สนใจกับคำว่า “พันธมิตร” พรรคร่วมรัฐบาล และ “มารยาท” ทางการเมือง เพราะพลังประชารัฐต้องการแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ทางการเมือง ที่ต้องการเป็นพรรคอันดับ 1 ในการเลือกตั้งในสมัยหน้า ที่สำคัญพลังประชารัฐ “ฮึกเหิม” เพราะในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา พลังประชารัฐชนะทุกสนามเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นถิ่นของ “เพื่อไทย” ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ที่เป็นถิ่นของ “ประชาธิปัตย์” เช่น ที่ จ.นครศรีธรรมราช
การที่พลังประชารัฐ ส่ง นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ หรือโบ๊ต ลูกชายของ นายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสะเดา จ.สงขลา และเป็นกลุ่มทุนในโรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของประเทศ ที่เรียกได้ว่าเป็น “คหบดี” รายใหญ่ของ จ.สงขลา ในเรื่องของทุนเพื่อใช้สนับสนุนให้ลูกชายเดินสู่ “สภาหินอ่อน” จึงไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่ประกาศชัดเจนว่าสนามเลือกตั้ง ทั้งที่ จ.สงขลา และ จ.ชุมพร พรรคพลังประชารัฐ “กวาดหมด” และเพื่อให้คนเขต 6 เห็นว่าพลังประชารัฐสู้จริง ไม่มีการ “ซูเอี๋ย” หรือ “เกี้ยเซี๊ยะ” กัน “บิ๊กป้อม” ยอมที่จะลากสังขาร หิ้วเอาลูกรักอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ขึ้นเวทีหาเสียงให้กับผู้สมัครหมายเลข 3 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุน
ดังนั้น สนามเลือกตั้งซ่อมเขต 6 จ.สงขลา ซึ่งกินพื้นที่ อ.สะเดา ยกเว้น ต.สำนักขาม และ ต.สำนักแต้ว, อ.คลองหอยโข่ง และ ต.บ้านพรุ ต.บ้านไร่ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จึงเป็นสนามที่ดุเดือดอย่างยิ่ง และถึงจะมีผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ เช่น พรรคกล้า และพรรคก้าวไกล แต่ดูเหมือนความสนใจของคนในเขต 6 จะจับจ้อง และติดตามการแข่งขันระหว่าง น.ส.สุภาพร กำเนินผล และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ เพียงเท่านั้น
เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ของการแข่งขัน หรือการต่อสู้ของทั้ง “พลังประชารัฐ” และ “ประชาธิปัตย์” ในครั้งนี้ อย่าได้เอาการเลือกตั้งซ่อมที่สนามใน จ.นครศรีธรรมราช มาเปรียบเทียบ เพราะมีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากสนามนี้ผู้ที่รับผิดชอบ คือ ส.ส.เดชอิศม์ ขาวทอง หรือที่คนสงขลาส่วนหนึ่งจะเรียกกันติดปากว่า “นายกชาย” และผู้สมัครของประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ คือ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ซึ่งเป็นภรรยา และที่สำคัญนายกชายเพิ่งจะได้รับการเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ซึ่งสนามเลือกตั้งเขต 6 จ.สงขลา คือ “สนามชี้ขาด” บนเส้นทางการเมือง และมองไปถึงอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย
จุดแข็งแห่งหนทางไปสู่ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ เขต 6 จ.สงขลา อยู่ที่การบริหารจัดการ หรือการมียุทธศาสตร์ที่ดีกว่า และการมีพันธมิตรกับคนหลายเครือข่าย ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ของ “นายกชาย” ที่เหนือกว่าการที่เป็นอดีตนายก อบจ.สงขลา 2 สมัย และความเป็น “นักเลง” ที่คนในเครือข่าย ทั้งการเมืองและนักเลงให้ฉายาว่า “ใจถึง พึ่งได้” และเป็นคนที่จริงใจกับคนรอบข้าง รวมทั้งเป็นคน “กระเป๋าตื้น” เป็นจุดแข็งที่ฝ่ายตรงข้ามประมาทไม่ได้ แม้ว่าถ้าจะเทียบเรื่องทุนส่วนตัว นายกชายจะสู้ฝ่ายของพลังประชารัฐ และผู้สมัครหมายเลข 3 แบบหลุดลุ่ยก็ตาม
การมีประสบการณ์ทางการเมืองตั้งแต่เป็นนายก อบจ.สงขลา และเป็นผู้สมัคร ส.ส.ที่มีทั้งแพ้ทั้งชนะ คือการสั่งสม “ประสบการณ์” ที่ทำให้ “นายกชาย” มีความช่ำชองในเรื่องการเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ เพราะก่อนหน้านี้เคยส่ง นายไพเจน มากสุวรรณ์ ให้เป็นนายก อบจ.สงขลา และส่ง พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี ให้เป็นนายกเทศบาลนครหาดใหญ่มาแล้ว ซึ่งคนในแวดวงการเมืองทราบดีว่า “นายกชาย” คือผู้วาง “ยุทธศาสตร์” ในการเลือกตั้งที่นำไปสู่ชัยชนะทั้ง 2 สนาม ที่สำคัญอีกอย่างคือการทำเวทีปราศรัยของ “ประชาธิปัตย์” มีขุนพลที่ดีกว่า และจำนวนผู้ฟังการปราศรัยมากกว่าเกือบทุกเวที แม้ว่าประเด็นนี้จะไม่ใช่จุดชี้ขาด เพราะมีปัจจัยอื่นซ่อนอยู่ แต่ภาพที่ออกมา “ประชาธิปัตย์” จึงดูดีกว่าแน่นอน
แม้ว่า ณ วันนี้ การเลือกตั้งในเขต 6 หัวคะแนนสำคัญสำหรับการเลือกตั้งทุกครั้ง คือผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และผู้นำท้องถิ่น (นายก อบต.) จะถูกแบ่ง 2 แต่เมื่อตรวจสอบแล้วยังพบว่าทีมที่ให้การสนับสนุน “นายกชาย” ยังเหนือกว่าอยู่เล็กน้อย ที่สำคัญหัวคะแนนที่อยู่กับนายกชายจะมีความชัดเจน รับปากแล้วไม่มีการ “บิดพลิ้ว” ภายหลัง และทุกคนเดินแบบเต็มสูบ
ในส่วนของผู้สมัครหมายเลข 1 แม้ว่าจะถูกโจมตีค่อนข้างมากว่าเป็นคนในครอบครัวของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง แต่ความเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวของผู้สมัคร และเคยผ่านการหาเสียงในฐานะที่เป็นรองนายก อบจ.สงขลามาแล้ว จึงมีประสบการณ์การหาเสียงในระดับหนึ่ง และที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่รองนายก อบจ.สงขลามาแล้ว จึงทำให้มีเครือข่ายทางการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะใน “กลุ่มผู้หญิง” ยังเป็นจุดได้เปรียบสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้
ส่วนผู้สมัครหมายเลข 3 ของพรรคพลังประชารัฐ คือเรื่องของการเป็น “คนสะเดา” แม้จะไม่เคยลงสนามการเมืองไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ครั้งนี้มี “นายอนุกูล” ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องมาก่อนแล้ว และมี ส.อบจ.เขต อ.สะเดา ที่เป็นอา และทีมงานที่ผ่านประสบการณ์การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมาแล้วเป็นพี่เลี้ยง และมีทีมการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ให้การสนับสนุน ที่ซึ่ง “ประชาธิปัตย์” ก็คงประมาทไม่ได้
ถึงวันนี้ทุกฝ่ายมองว่า “กระแส” และ “กระสุน” อยู่ที่ผู้สมัครของพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ “อำนาจรัฐ” ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ ถูกสั่งการให้เป็นผู้สนับสนุนผู้สมัครของพรรคอย่างเต็มที่ เพราะการล้มผู้สมัครของประชาธิปัตย์ครั้งนี้ หมายถึงการโค่น “นายกชาย” ผู้เป็นแม่ทัพภาคใต้ ในการเลือกตั้งสมัยหน้าที่พลังประชารัฐหมายมั่นที่จะปักธงเพิ่มจำนวน ส.ส.ในภาคใต้เพิ่มขึ้น เพราะง่ายกว่าการไปปักธงในพื้นที่ของ “เพื่อไทย” ในภาคเหนือ และภาคอีสาน
แต่จุดอ่อนของพลังประชารัฐ และทีมผู้สมัครหมายเลข 3 คือการบริการจัดการ ในเรื่องของหัวคะแนนที่ยังไม่ช่ำชองเท่ากับ “นายกชาย” เพราะโอกาสที่หัวคะแนนจะบิดพลิ้ว แอบตีกิน การใช้วิธีการ “ตีปลาหน้าไซ” และเดินแบบไม่เต็มสูบ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นสูง เพราะบารมีทางการเมือง และการเป็นนักเลงที่เทียบชั้นกันไม่ได้ และกระแสบางครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มจำนวนบัตรในหีบเลือกตั้งให้ตนเอง และกระสุนถ้ายิงไม่เข้าเป้า ก็หมายถึงการยิงนกตกปลา ที่สำคัญ “อำนาจรัฐ” เองก็อาจจะใช้ได้ไม่เต็มที่ สำหรับพื้นที่เมืองชายแดนอย่าง อ.สะเดา และเมืองนักเลงอย่าง อ.คลองหอยโข่ง
สรุปสุดท้าย.. การเลือกตั้งที่จะมีการ “หย่อนบัตร” เพื่อชี้ขาดในวันที่ 16 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็น “วันครู” พรรคประชาธิปัตย์ที่มี “นายกชาย” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ยังใช้ประสบการณ์ทางการเมือง และเครือข่ายของ “พันธมิตร” ในการรักษาที่นั่งเดิมที่เป็นของ “ประชาธิปัตย์” ในเขต 6 จ.สงขลา เอาไว้ได้ฟันธง!
ไม่มีความคิดเห็น: