เมื่อ "บีอาร์เอ็น" ไม่ต้องการให้ "คนชายแดนใต้" มีงาน-มีปัญญา การพัฒนาของ ศอ.บต.อาจกลายเป็นเหยื่อผ่าน "พูดคุยสันติสุข"

 




บทความโดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก



หลังการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นเพียง 1 วัน เพจ BRN Barisan Revolusi National ซึ่งอ้างว่าเป็นเพจอย่างเป็นทางการของขบวนการบีอาร์เอ็น ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวข้อง 3 ประเด็น โดยหนึ่งในนั้นพูดถึงการส่วนร่วมทางการเมือง มีการพูดถึงกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา การเปลี่ยนสีผังเมืองที่ อ.เทพาให้เอื้อการลงทุนของกลุ่มทุนเจ้าสัวใหญ่

เข้าใจว่า เพจบีอาร์เอ็นต้องการสื่อถึงโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่กลุ่มเอ็นจีโอนำชาวประมงพื้นบ้านคัดค้านมาต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะสร้างงานให้คนในพื้นที่ถึง 100,000 ตำแหน่ง ต้องถือว่าบีอาร์เอ็นไม่ได้ทำการบ้านอย่างเพียงพอ แถมยังนำโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ยุติไปแล้วมาเป็นประเด็นใหม่ด้วย

ถ้านิยาม "การมีส่วนร่วมทางการเมือง" ของบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขมีเรื่องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อยู่ด้วยแล้ว พล.อ.พัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐไทย ยอมรับในนิยามนี้ อะไรจะเกิดขึ้นกับชายแดนใต้ในอนาคต

ผู้ที่เข้าใจบีอาร์เอ็นดีจะรู้ว่า “ธงนำ” ตั้งแต่ต้นปี 2547 ที่ก่อไฟใต้ระลอกใหม่ นอกจากสร้างความรุนแรงที่มีเป้าหมายต่อเจ้าหน้าที่รัฐและสถานที่ราชการแล้ว ยังมีเรื่องการทำลายเศรษฐกิจในหัวเมืองเศรษฐกิจของชายแดนใต้ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้นักลงทุนจากภายนอกไม่กล้าเข้ามาลงทุนในพื้นที่ด้วย

บีอาร์เอ็นไม่ต้องการให้ชายแดนใต้มีความเจริญ เพราะจะทำให้คนมีปัญญา มีความคิด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งยากที่จะควบคุมประชาชนให้อยู่ในอิทธิพล ดังนั้นการก่อการร้ายในเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวจึงเป็นไปเพื่อสร้างความหวาดกลัวมิให้กลุ่มทุนจากภายนอกเข้ามาลงทุนในพื้นที่

บีอาร์เอ็นไม่ต้องการให้คนในพื้นที่มีงานทำ แต่ให้เดินทางไปทำงานในมาเลเซีย เพราะรู้ดีว่าโครงการเมืองต้นแบบทั้ง 4 แห่งจะทำให้เกิดการพัฒนา สร้างงาน ทำให้คุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้น และเห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นเรื่องยอมไม่ได้

ก่อนหน้าจะมีข้อเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะนี้ ได้ประสานกลุ่มผู้นำศาสนาที่เป็นฝ่าย “อูลามา” ของบีอาร์เอ็น รวมถึงกลุ่มผู้นำทางการศึกษา นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคมในปีกทางการเมืองให้ขัดขวางโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งเรื่องนี้มองออกได้ไม่ยาก

ดังนั้นในกรอบการพูดคุยกับรัฐไทย ประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ บีอาร์เอ็นจึงแทรกแซงโดยการร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่จัดตั้งไว้มาโดยตลอด แถมยังผสานกับแผนการก่อการร้ายเพื่อให้เป็นไปตามธงที่ตั้งไว้

สิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการคือ การร่วมมือกับปีกทางการเมืองในพื้นที่ โดยใช้ภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นมากว่า 30 องค์กรในชายแดนใต้เป็นเครื่องมือ แล้วชี้ประเด็นว่า ศอ.บต.สร้างความแตกแยกให้คนในพื้นที่ สนับสนุนกลุ่มทุน แทนที่จะแก้ไขกลับกลายเป็นสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมชายแดนใต้

น่าสังเกตว่าวันนี้บีอาร์เอ็นพุ่งเป้าไปที่ “ศอ.บต.” มากกว่า “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ว่าเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง เพื่อใช้เป็นเงื่อนปมสร้างมวลชนให้เพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างชัดเจนที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กรณีทหารใช้กฎอัยการศึกตรวจค้นบ้านผู้ที่ถูกซัดทอดเป็นแนวร่วมในพื้นที่บ้านบ่อทอง อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เจ้าของบ้านที่เป็นภรรยาผู้ต้องสงสัยอัดคลิปปะทะคารมแล้วเผยแพร่ชี้แบบนำว่า ถูกคุกคามและใช้ความรุนแรงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยรับและแชร์กันเป็นทอดๆ อย่างเป็นกระบวนการ

สุดท้ายทหารกลายเป็นจำเลย เพราะไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง แม้โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะชี้แจงไปแล้วพร้อมๆ กับปฏิเสธว่าเรื่องที่กระหน่ำอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่ไม่จริง ซึ่งก็กลายเป็นถูกมองว่าแก้ตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบีอาร์เอ็นมีความช่ำชองในยุทธวิธีทั้งทางการเมืองและการทหาร โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายที่แต่เดิมพุ่งโจมตี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหลัก แต่วันนี้ได้เพิ่มเป้าไปที่ ศอ.บต.ด้วย เพราะเป็น “จุดอ่อน” ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันการพัฒนาพื้นที่

หากปล่อยให้ ศอ.บต.ทำตามนโยบายที่วางเอาไว้จะกระทบงานการเมือง โดยเฉพาะการสร้างมวลชนที่เป็นหัวใจของการเดินไปสู่ชัยชนะ โดยเฉพาะบีอาร์เอ็นต้องการใช้มวลชนเป็นฐานในการรองรับการ “ทำประชามติ” เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ

ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้เป็นห่วงกลุ่มทุนที่จะเข้าไปพัฒนาตามโครงการของเมืองต้นแบบที่ 4 แต่เป็นห่วงว่าจะอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาคน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการว่างงานของ ศอ.บต.ที่จะกลายเป็นเหยื่อของบีอาร์เอ็น โดยผ่านกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ยังลูกผีลูกคน

หรือไม่ก็สุดท้ายแล้วกระบวนการพูดคุยสันติสุขอาจจะกลายเป็นกระบวนการเพิ่มทุกข์ให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นไปอีกก็เป็นได้..



ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]