พร่ำบ่นชูธง "สันติวิธี" สวนทางกับความจริงที่นักรบไม่ได้พบรัก หากแต่เป็น "ความตาย" ที่ได้เจอ

 


บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก


เฝ้าติดตามการปฏิบัติงานของทหารในสังกัด ‘กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า’ มานาน พบว่า ห้วง 3 ปีมานี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการปิดล้อมและตรวจค้นที่มักจะจบลงด้วย “วิสามัญฆาตกรรม” กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นการ “ฆ่าคน” ด้วยความชอบธรรม เพราะคู่กรณีขัดขวางการจับกุมและต่อสู้ด้วยอาวุธ

หรือเป็นเรื่องที่ ‘กองทัพ’ ให้นิยามไว้ชัดเจนว่า “เป็นปฏิบัติการตามกฎหมาย”

สังเกตว่ากองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นระยะหลังจะใช้ “บ้าน” ของชาวบ้าน หรือไม่ก็ “โรงเรียนสอนศาสนา” เป็นที่หลบซ่อน และเมื่อจบปฏิบัติการทุกครั้งสิ่งที่ตามมาก็ต้องมีการ “ซ่อมแซม” บ้านเรือนหรือโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายให้กลับมีสภาพใกล้เคียงกับก่อนเกิดเหตุด้วย

แน่นอนว่าถ้าเอากฎหมายมาใช้อย่างเต็มที่และจริงจัง “เจ้าของบ้าน” หรือ “ผู้บริหารโรงเรียน” ย่อมต้องมีความผิดในข้อหาให้ที่หลบซ่อนพักพิงด้วย ซึ่ง “อดีตแม่ทัพภาค 4 คนหนึ่ง” เคยใช้มาตรการนี้อย่างเข้มข้น จนมีเจ้าของบ้านหลายรายถูกปรับและจำคุกมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่โทษจำคุกมักให้รอลงอาญา

แต่พบข้อเท็จจริงว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะการให้ที่พักพิงกับคนที่มีทั้งเชื้อชาติและศาสนาเดียวกันถือเป็น “วิถีปฏิบัติ” หรือเป็นสิ่งที่ “มุสลิม” ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว หากยังจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป มีแต่จะทำให้ “เกิดช่องว่าง” ระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดที่บ้านโคกเค็ด ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา ปรากฏว่า “จับตาย” ได้ 3 ศพ และ “จับเป็น” ได้ 1 ราย ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจคือ 1.ใช้โรงเรียนเป็นที่พักพิงและใช้มัสยิดเป็นเกราะกำบังเพื่อเอาชีวิตรอด 2.แม้พยายามยิงเปิดเพื่อหนีตาย แต่ไม่ได้คิดจะยอมตายมาก่อน และ 3.เหมือนกับทุกครั้งมีการใช้ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ รวมทั้งบิดา มารดา ญาติมิตรมาขอร้องให้มอบตัวก่อนจะมีวิสามัญฯ

ประเด็นหลังนี้น่าสนใจที่สุด ในอดีตกว่าสังคมจะได้เห็นภาพเหตุการณ์ก็หลังจบปฏิบัติการไปแล้ว โดยเป็น “คลิป” ที่ถูกจัดการแล้วนำมาเผยแพร่ แต่ปัจจุบันอาจได้เห็นภาพ “ไลฟ์” บนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งวัตถุประสงค์เหมือนกันคือเป็นปฏิบัติการไอโอ และเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามกฎหมาย ดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ไม่ได้บุกเข้าไปฆ่าคนมือเปล่า เพราะจะได้ยินเสียงปืนแบบสดๆ จากทั้ง 2 ฝ่ายที่ต่อสู้กัน

แน่นอนเป็นวิธีการแบบนี้ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา “ผู้เห็นด้วย” ย่อมมองว่าคนร้ายมีความผิด แถมยังมีหมายจับเป็นหางว่าวถูกเผยแพร่ตามมา เมื่อต่อสู้ก็ต้องถูกวิสามัญฯ หรือคิดไกลกว่านั้นว่าสมควรตาย และตายหนึ่งคนก็ลดผู้ก่อเหตุไปได้หนึ่งคน การวิสามัญฯ ไปเรื่อยๆ ไม่ช้ากองกำลังบีอาร์เอ็นก็จะหมดไป

แต่สำหรับ “ผู้เห็นต่าง” ย่อมมองว่าการวิสามัญฯ เป็นความรุนแรงและเกิดความสูญเสียตามมาหลายด้าน เป็นการสร้างความเกลียดชังและสะสมความโกรธแค้น ไม่เป็นผลดีต่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ที่สำคัญกลับทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้มวลชนเพิ่มจากเหตุการณ์แต่ละครั้งไม่มากก็น้อย

วันนี้จึงมีคำถามหนาหูว่า ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่นอกจากวิสามัญฯ หรือไม่ เช่น ปิดล้อมจนหมดกระสุน ใช้แก๊สน้ำตา ใช้หน่วยที่มีความสามารถบุกเข้าจับเป็น ซึ่งถ้าทำได้จะก่อประโยชน์ในการนำตัวไปเข้ากระบวนการซักถามตามมา ส่วนการจับตายนำไปสู่การแห่แหน และทำพิธีศพได้เยี่ยงวีรบุรุษแบบไม่สอดคล้องหลักการศาสนา

นอกจากนี้ ถ้าเป้าหมายการปิดล้อมอยู่ที่การ “จับเป็น” แล้ว ต้องนับว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่น่าจะทำได้เป็นอย่างดีเพราะมีความได้เปรียบทุกด้าน กำลังคนและอาวุธเหนือกว่ามากมาย แถมยังนำผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น รวมถึงคนในครอบครัวมาเกลี้ยกล่อมระหว่างกุมสภาพรอสถานการณ์คลี่คลายได้อีกด้วย

ทว่าเหตุการณ์ที่มักจะจบลงด้วยการวิสามัญฯ สิ่งนี้ทำให้ผู้เห็นต่างนำไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ แถมยังสร้างความลำบากใจหรือถึงขั้นถูกกดดันอย่างหนักสำหรับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่-ท้องถิ่นที่ไปช่วยเจรจา ไม่เฉพาะแรงกดดันจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น สังคมยังอาจมองว่าทำไมต้องไปช่วยทำให้การฆ่าเป็นสิ่งชอบธรรม

เมื่อกลุ่ม “นายทหารสายเหยี่ยว” ยึดกุมกำลังพลและงานด้านยุทธวิธีใน ‘กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า’ อยู่ขณะนี้ จึงไม่แปลกที่เหล่าเสนาธิการต่างเชื่อมั่นว่า การปิดล้อมที่จบลงด้วยวิสามัญฯ ถือเป็นหนทางนำแผ่นดินชายแดนใต้ไปสู่ความสงบได้ ซึ่งคงจะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรไหนกล้า “คัดง้าง”

มีแต่หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ต้องเตรียมใจและเตรียมแผนรับมือการตอบโต้จากกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นเอาเอง เพราะหลังเกิดเหตุทีไรมักจะมีการเอาคืน และเป้าหมายไม่ใช่กับกองกำลังฝ่ายรัฐเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงพระ ครู เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่นับเป็นเป้าหมายอ่อนแออีกมากมายด้วย

ที่ผ่านมา ฝ่ายบีอาร์เอ็นมักอาศัยการปิดล้อมและวิสามัญฯ ที่เกิดขึ้นใน “มัสยิด” และ “โรงเรียนสอนศาสนา” เป็นข้ออ้างจอมปลอมว่า การกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่กระทบต่อ “เป้าหมายอ่อนแอ” แล้วการปฏิบัติการใหญ่ตอบโต้ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ด้วยจึงเป็นเรื่องสมควร ไม่เว้นกับทั้งกับเมืองเศรษฐกิจสำคัญๆ

การเปิดหน้ารบขั้นแตกหักกับกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น โดยที่ฝ่ายทหาร ตำรวจ และปกครองยังยึดกุมความได้เปรียบในด้านมวลชนไม่ได้ อีกทั้งยังพิทักษ์ความปลอดภัยเป้าหมายอ่อนแอและพื้นที่ไข่แดงเศรษฐกิจไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งนี้อาจสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นตามมาก็เป็นได้

ดังนั้น จะให้มั่นใจอย่างไรว่า ‘กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า’ จะรับมือกับการเอาคืนได้ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า อ.จะนะ ซึ่งมีพื้นที่เคลื่อนไหวเพียงไม่กี่ตำบล แถมกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็นไม่ได้มากมายอะไร ทำไมทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และปกครองจึงยังทำให้พื้นที่นี้ปลอดภัยไม่ได้

หรือแสดงว่ากว่า 18 ปีมานี้หน่วยงานความมั่นคงไม่เคยวางแผนปกป้อง อ.จะนะ ซึ่งถือเป็นพื้นที่กันชนให้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญเลย และหลังเกิดเหตุวิสามัญฯ 3 ศพกลับยังมีการปล่อยให้เกิดความสูญเสียกับประชาชนและเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดแบบ “สวนควันปืน” อีก นั่นแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงใน อ.จะนะ จะไม่ได้จบที่เหตุการณ์วิสามัญฯ 3 ศพอย่างแน่นอน

เราชูธงด้วยสัญลักษณ์ “สันติวิธี” เราพร่ำบ่นในเวที สล.3 ด้วยวาทกรรมว่าไฟใต้จะจบลงด้วยสโลแกน “นักรบพบรัก” และเราหมดเงินมากมายไปกับการขับเคลื่อน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” แต่ในพื้นที่กลับยังเต็มไปด้วยเรื่อง “นักรบพบกับความตาย” ทุกครั้งที่มีการปิดล้อมตรวจค้น

ณ วันนี้สิ่งที่เป็น “นโยบาย” กับสิ่งที่ “เกิดขึ้นจริง” มันยังสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด

ผู้เขียนเชื่อมั่นในตัวตน ‘พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์’ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าเป็นคนที่หัวใจและมือไม่เปื้อนเลือด แต่เวลานี้แผ่นดินปลายด้ามขวานคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือดของทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหาวิธี “หยุดเลือด” แบบที่คนในพื้นที่ต้องการจะเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]