นายกรัฐมนตรีมอบเอกสารโครงการ "1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน"
ชายแดนภาคใต้: นายกรัฐมนตรีมอบเอกสาร “คืนสิทธิ์ คืนสุข สู่ประชาชน” แก่ประชาชนกลุ่มครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการ "1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน"
14 มีนาคม 2565 - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะและให้กำลังใจประชาชนกลุ่มครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่มาร่วมให้การต้อนรับในโอกาสลงพื้นที่เป็นประธานเปิด เที่ยวบินปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง พร้อมมอบเอกสาร “คืนสิทธิ์ คืนสุข สู่ประชาชน”ภายใต้โครงการ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตามที่ ศอ.บต.ได้มีการเสนอเพื่อสนับสนุนกระทรวงมหาดไทยในการเร่งแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วในพื้นที่ภาคใต้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในทุกมิติ ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจและติดตามครัวเรือนที่ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะต้องร่วมกันทำให้สำเร็จ อาจจะฟังดูยากแต่เชื่อว่าหากทุกคนมีความเข้าใจ ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ ขอให้รักและสามัคคี รวมถึงเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เพราะนี่คืออนาคตของประเทศไทย ที่เราทุกคนจะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
สำหรับโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจนเป็นการดำเนินการตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง โดยที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจน จัดข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1 รายรับผิดชอบ 1 ครัวเรือนยากจนในการประสานงาน ติดตามการแก้ปัญหาร่วมกับทีมปฏิบัติการตำบลและอำเภออย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการเร่ง “คืนสิทธิ์ คืนสุข สู่ประชาชน” ด้วยการตรวจสอบสิทธิ์ทางสังคม ทางกฎหมาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประสานและบูรณาการแก้ไขความยากจนให้ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านประกอบด้วย ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านความเป็นอยู่ ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ในการบูรณาการร่วมกับ 38 หน่วยงานเพื่อหนุนเสริมเติมเต็มหน่วยในพื้นที่นำไปปรับแผนงานโครงการตามภารกิจ (Function) มุ่งหวังแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ประชาชนกินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน และพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีครัวเรือนยากจนจากฐานข้อมูล TPMAP รวม 13,906 ครัวเรือน แบ่งเป็นยะลา 4,289 ครัวเรือน นราธิวาส 2,574 ครัวเรือน ปัตตานี 3,530 ครัวเรือน สตูล 3,015 ครัวเรือน และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา 498 ครัวเรือน และยังได้ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตรกรรม พร้อมการใช้งานระบบ PPP Connect ในการวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนกับทุนการดำรงชีพของคนจน เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีพอย่างยั่งยืน
การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ ศอ.บต.มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้าหมายอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น: