“ป.ป.ช.ตรัง” โชว์ผลงานปราบโกงเข้มข้นขึ้นแท่นอันดับ 2 ภาค 9


กระบวนการยุติธรรม: ผอ.ป.ป.ช.ตรังเผยภาพรวมปราบปรามการทุจริตในรอบ 2 ปี เข้มข้น รับทำคดีตามเรื่องร้องเรียนเป็นอันดับ 2 ในเขตพื้นที่ภาค 9 โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต เน้นเครือข่ายภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ ผ่าน “ชมรมตรังต้านโกง”


4 เมษายน 2565 - นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ภาพรวมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบปี 2564 - 2565 ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าดำเนินการได้อย่างเข้มข้นตามนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการปราบปรามการทุจริตที่ต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด โดยเฉพาะปี 2564 การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สูงสุด มีเรื่องไต่สวนถึง 16 เรื่อง และมีการชี้มูลไปถึง 10 คดี ในส่วนของกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนที่จะถึงชั้นไต่สวนก็ดำเนินการได้ถึง 40 เรื่อง ถือว่ามีความเข้มข้นและมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ในเรื่องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต

“สถิติคดีเรื่องร้องเรียนในเขตพื้นที่ ป.ป.ช. ภาค 9 อันดับ 1 คือ จังหวัดสงขลา อันดับ 2 คือจังหวัดตรัง ในด้านการร้องเรียนโดยเฉพาะในปี 2564 มีสถิติเรื่องร้องเรียนที่ออกเป็นเลขดำรับเรื่องไว้ถึงประมาณเกือบ 60 เรื่อง ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา” นายรามกล่าว

นายรามกล่าวว่า สำหรับปี 2565 ในช่วงครึ่งปีแรกมี 20 เรื่องที่ออกเป็นเลขดำ ซึ่งการร้องเรียนอาจมีมากกว่านี้แต่บางประเด็นอาจไม่รับไว้ดำเนินการ เช่น บัตรสนเท่ห์ พฤติการณ์และคำกล่าวหาไม่ชัดเจน โดยสภาพเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คือจะเป็นเรื่องกระบวนการที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเป็นส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันเรื่องที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องของการปฏิบัติ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือความผิดตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถือว่าเป็นการร้องเรียนที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากเมื่อเข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วดำเนินการไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะเข้าข่ายในส่วนของ 157 ได้เช่นเดียวกัน ส่วนอื่นๆ ก็จะเป็นเรื่องของการเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การบุกรุกพื้นที่ที่เป็นที่ดินของรัฐต่างๆ ที่ต้องมีระเบียบข้อกฎหมายกำหนด แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย เป็นต้น

นายรามกล่าวว่า นอกจากนี้ การป้องปรามการทุจริตเชิงรุกโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นไปตามกฎหมายของ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุดปี 2561 ที่กำหนดให้ส่งเสริมภาคประชาชนตามนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง และปัจจุบันนี้ทุกจังหวัดมีชมรม STRONG จิตพอเพียง ต้านทุจริต ซึ่งจังหวัดตรังมี “ชมรมตรังต้านโกง” เป็นเครือข่ายที่ทำหน้าที่ในเรื่องของการเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตต่างๆ โดยได้รับการตอบรับจากเครือข่ายดังกล่าวอย่างดี หลายๆ คดี หลายๆ กิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐที่เครือข่ายเข้าไปตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสทำให้ ป.ป.ช.เข้าไปดำเนินการ เช่น ในเรื่องการก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการ ป.ป.ช.เข้าไปดำเนินการในเรื่องการไต่สวน หรือที่เป็นประเด็นปัญหาค่อนข้างมากในพื้นที่จังหวัดตรัง คือ โครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ทิ้งร้างไม่ได้ดำเนินการให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนให้เบาะแสมาค่อนข้างมาก และเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งการใช้สื่อโซเชียลต่างๆ ในการเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตได้เป็นอย่างดี สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมเครือข่ายทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]