“โฉมหน้าศักดินาไทย” จากหนังสือต้องห้ามจนถึง 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
ศิลปวัฒนธรรม: หากเอ่ยถึงชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” เด็กรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งในยุคนี้คงรู้จักเขาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากงานเขียนต่างๆ ของเขา ที่ถ่ายทอดแนวคิดและความรู้ความสามารถลงไปในนั้น
หนึ่งในงานเขียนของ “จิตร” ที่เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้กล่าวถึงคือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ในนามปากกา “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ” หนังสือที่ในสมัยหนึ่งนั้น ผู้มีอำนาจประกาศขึ้นบัญชีเป็น “หนังสือต้องห้าม” แต่เมื่อผ่านกาลเวลามาถึงอีกสมัยหนึ่ง ในช่วงปี 2540-2541 “โฉมหน้าศักดินาไทย” กลับกลายมาเป็นหนึ่งในสามหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่อยู่ในรายชื่อหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน 100 เล่ม
จิตรเขียนโฉมหน้าศักดินาไทยและตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร “นิติศาสตร์ฉบับศตวรรษใหม่” เมื่อ พ.ศ.2500 ในชื่อเรื่อง “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” และตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในชื่อของ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ในปี 2517
เนื้อหาของหนังสือ จิตรได้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ตามแนวทางของ “มาร์กซิสต์” ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของยุคสมัยของเขา ที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา จนหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้าม
มุมมองของจิตรผ่านหนังสือเล่มนี้ออกมาในลักษณะให้เห็นว่า “ศักดินา” เอารัดเอาเปรียบประชาชนมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอย่างไร เช่น การที่มีโอกาสถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตที่สำคัญ ในปริมาณมากกว่าประชาชนทั่วไปหลายเท่า จนถึงยุคของจิตร การเอาเปรียบประชาชนของศักดินามีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เช่น การขูดรีดภาษีอากรอย่างหนัก
นอกจากนี้ เนื้อหายังกล่าวถึงกำเนิดของศักดินาและการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ยุคก่อนกำเนิดรัฐสุโขทัยจนมาถึงการเริ่มก่อตั้งรัฐอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ จนมาเป็นสยามประเทศ และประเทศไทยในช่วงที่มีหนังสือเล่มนี้
ลำดับขั้นตอนจากยุคทาส จนถึงการลุกฮือของทาส มาสู่ระบบศักดินา ที่ “ทาส” กลายมาเป็น “ไพร่” เข้าสู่ยุคการเข้ามาของระบบทุนนิยม
5 พฤษภาคม 2509 ณ ชายป่าบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร อดีตกำนัน ต.คำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ได้ล้อมยิง “จิตร” จนเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 35 ปี
จนถึงวันนี้ ก็ผ่านไปแล้ว 56 ปี แต่หลายผลงานของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ก็ยังคงยืนเด่นอย่างท้าทายและเป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นสู้มาหลายต่อหลายครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น: