14 ตัวสุดท้าย! โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาใกล้สูญพันธุ์ปิดฉากประวัติศาสตร์ 6,000 ปี
สิ่งแวดล้อม: ผศ.ดร.ธรณ์เผยโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาใกล้สูญพันธุ์เหลือเพียง 14 ตัวสุดท้ายก่อนปิดฉากประวัติศาสตร์ 6,000 ปี ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างรับทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งวิกฤตที่สุดของปลาโลมาอิรวดี
5 พฤษภาคม 2565 - จากกรณีที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนในเฟซบุ๊กระบุว่า ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ โดยขณะนี้เหลืออยู่เพียง 14 ตัวจากเดิมที่เคยมีอยู่ 100 กว่าตัว โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว เมียนมาร์ 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว
"ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ มันไม่มีอะไรจะเถียงได้ด้วยตัวเลขที่เห็น เพื่อนธรณ์บางคนอาจบอกว่า ลาวสูญพันธุ์ไปก่อนแล้วนะ ดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลหายากของไทย อธิบายให้ผมฟัง ประชากรโลมาในแม่น้ำโขงของลาว/กัมพูชา เป็นกลุ่มเดียวกัน ว่ายไปว่ายมา หากเราอนุรักษ์ในกัมพูชาไว้ได้ ในอนาคตยังมีหวังที่โลมาจะกลับเข้าไปในลาว ผิดจากทะเลสาบสงขลา ผิดกันที่ว่า ของเราจบแล้ว…จบเลย ไม่มีมาจากไหนอีก ปิดฉากสุดท้ายของประวัติศาสตร์ 6,000 ปี"
ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า อะไรคือ 6 พันปี นานมาแล้ว ระดับน้ำทะเลในแถบนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่อ 6 พันปีก่อน โลมาอิรวดี สัตว์เฉพาะเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามชายฝั่งไปทั่ว โลมาฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง/สงขลา ระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนทะเลกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบๆ ที่ยังเชื่อมต่ออยู่กับทะเลข้างนอก แต่โลมายังมีความสุขอยู่ในทะเลสาบ ที่นี่ไม่มีผู้ล่าลูกๆ ของพวกเธอ ยังมีปลากินเยอะแยะเลย ทะเลสาบสงขลาในสมัยก่อนที่สมบูรณ์สุดขีด โลมาออกลูกหลานจนเป็นร้อยๆ ตัว แล้วมนุษย์ก็เข้ามา สมัยก่อน ความต้องการไม่มาก โลมายังมีความสุข พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมง เราอยู่ด้วยกันได้ ทว่า…คนมีมากขึ้น จับปลามากขึ้น
ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า ยังมีการปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึก โลมากับปลาบึกขนาดใกล้เคียงกัน โลมาไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็น หนีไม่รอด โลมาหายใจด้วยปอด โลมาติดอวนจมน้ำตาย ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัด ก่อนหน้านี้ โลมาตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว ปล่อยปลาบึกปี 2545-2551 พอปลาโต คนเริ่มจับ ในช่วงปี 2550-2555 โลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว หลังจากนั้น จำนวนตายเริ่มลดลง ไม่ใช่เพราะเราแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเพราะโลมาลดลง จนไม่มีเหลือให้ตาย ยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปลาที่เป็นอาหารถูกจับจนเหลือน้อย น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน ฯลฯ จนถึงเลือดชิด ประชากรเหลือน้อยมาก ผสมพันธุ์กันเอง แต่ละปัญหานำพามาสู่เลข 14
"14สุดท้าย 14 ก่อนจะไม่มีอะไรเหลือโลมาที่เคยอาศัยมาตั้งแต่ก่อนยุคผีแมนแห่งแม่ฮ่องสอน ก่อนมนุษย์ในอดีตจะวาดภาพโลมาบนผนังถ้ำในภาคใต้ เหลือเพียง 14สุดท้าย และจะสูญสิ้นไปในรุ่นเรา ตายเหี้ยน หมดสิ้น สูญพันธุ์ !"
น.ส.ราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว โลมาในทะเลสาบมีประมาณ 100 ตัว ปัจจุบันมีประมาณ 14-20 ตัว โดยมี 14 ตัวที่พบเห็นหรือนับได้ หากถามว่าจะเป็นฝูงสุดท้ายที่อยู่ในทะเลสาบสงขลาไหมก็ จากการศึกษาและติดตามก็น่าจะเป็นฝูงสุดท้าย
"เราควรจะร่วมกันอนุรักษ์ปลาโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นโลมาน้ำจืด ที่มีอยู่หนึ่งในห้าแห่งของโลก และในห้าแห่งนี้ ประเทศไทยหรือทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งวิกฤตที่สุด หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมมือกัน บูรณาการ ชาวประมงส่วนหนึ่งในพื้นที่เขาเข้าใจ ให้การร่วมมือในการอนุรักษ์ อย่างเต็มที่ แต่มีบางส่วนที่ชาวประมงอาจมาจากนอกพื้นที่ ไม่ได้รับรู้ข้อมูลตรงนี้ ปัจจุบันข้อมูลคือวงกว้างขึ้น และเข้าใจกันมากขึ้นในระดับนึง และที่ระวังก็คือเรื่องของการใช้เครื่องมือประมง ในเขตที่ห้าม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่จริงๆ ก็คือเครื่องมือประมงปลาบึกที่มีผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดี" น.ส.ราตรี กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น: