บุกรุกโบราณสถาน 20 กว่าปีไม่มีใครผิด! “ภาคประชาชนสงขลา” ลุกฮือไม่ขอทนอีกต่อไป






รายงานพิเศษ โดย.. All about News


นับตั้งแต่นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เข้าแจ้งความดำเนินคดีว่ามีการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง ในพื้นที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา พื้นที่ประมาณ 2,460 ไร่ ทั้งตัดโค่นต้นไม้และตัดถนนกว้าง 4 เมตรขึ้นไปสู่ยอดเขา ระยะทางประมาณ 1-2 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 21 ก.พ. จนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยเวลามากว่า 3 เดือนแล้ว

แต่คดีความก็เหมือนจะล่าช้าไม่คืบหน้าเท่าที่ควร สร้างความสงสัยปนหงุดหงิดให้ผู้ที่ติดตามเรื่องราวนี้มาตลอด โดยเฉพาะภาคประชาชนที่คาดคิดว่า รอบนี้คงจะจัดการเรื่องนี้กันได้สักที หลังจากที่เห็นกันอยู่ตำตาว่ามีการบุกรุกกันมาหลายปี ชนิดที่ยืนอยู่ศาลากลางจังหวัดสงขลาก็ยังมองเห็นว่ามีการบุกรุก

แม้กระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ชาวสงขลา ก็ยังเคยพูดถึง "ร่องรอย" บนภูเขาแห่งนี้ ขณะรถที่นั่งขับเคลื่อนอยู่บนสะพานเกาะยอ เมื่อประมาณปี 2538


และแม้ว่าจะเคยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา เคยแจ้งความแล้วเมื่อปี 2557 นับ 10 คดี ตำรวจก็ทำสำนวนส่งอัยการแล้ว แต่อัยการไม่ฟ้อง จากนั้น เรื่องก็เงียบหายไปจนผู้คนลืมเลือน แต่การขุดดิน บุกรุกโบราณสถานแห่งนี้ก็ยังคงมีต่อไป

กระทั่งได้นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เป็นผู้หยิบขึ้นเปิดประเด็นอีกครั้ง กล้าแตะเรื่องใหญ่ ทั้งๆ ที่เพิ่งมารับตำแหน่งได้แค่ 7 เดือน





แต่เพราะเหตุใดกันทั้งที่หลักฐานเห็นกันอยู่คาตา อย่างนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย นักอนุรักษ์ชาวสงขลา ที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดก็ได้ตั้งคำถามไว้ โดยเขาโพสต์ในเฟซบุ๊กไว้ทำนองว่า ถ้าตั้งคนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างมาทำคดี คงจบไปแล้ว ทำไมคดีจึงล่าช้า รถแบคโฮของใครกี่คัน กี่คนที่ไปขุด รถ 6 ล้อกี่คัน 10 ล้อกี่คัน ของใคร ของห้างหุ้นส่วนไหน? ติดสติ๊กเกอร์อะไร ขุดแล้วขนไปถมที่ไหนบ้าง พี่ๆ ที่วินมอเตอร์ไซด์รู้หมด แต่ตำรวจไม่รู้

บางคนอาจจะบอกว่า ตำรวจก็แจ้งข้อกล่าวหา ขอหมายศาล และจับกุมผู้ต้องหาไปบ้างแล้ว มีผู้ต้องหาระดับบิ๊กๆ โดนจับแล้ว เช่น นายชาญชญา หรือเสริมศักดิ์ จันทร์สว่าง หรือ "นายกเป๊ก" อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสิงหนครหลายสมัย นานเกือบ 20 ปี พี่เขยนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.สงขลา แล้วยังเป็นบิดาของนายกอง จันทร์สว่าง นายกเทศมนตรีเมืองสิงหนครคนปัจจุบันด้วย และยังมีนางณัฏฐ์ณรัน จันทร์สว่าง หรือ "เจ๊อ้อย" ภรรยาของนายชาญชญา ซึ่งเป็นพี่สาวของนายเดชอิศม์ ขาวทอง

ทั้งนายชาญชญาและนางณัฏฐ์ณรัน สองสามีภรรยา เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อด้วยกันคือ 1.บุกรุกโบราณสถาน และ 2.บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484

นอกจากนี้ ยังมีลูกสาวของนายชาญชญาที่เข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีนายทุนและผู้รับเหมาอีก 2 ราย ที่ถูกจับไปด้วย แต่คนที่ติดตามเรื่องนี้อีกคนอย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา บอกว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีอีกหลายพื้นที่ในเขตโบราณสถานที่มีการเข้าไปบุกรุก ทั้งขุดดินไปขาย และที่หนักหนามากคือ ถึงขั้นเข้าไปปลูกสร้างอาคาร เช่น พื้นที่สระมรกตกลางเขาแดง การขุดดินหลังวัดสุวรรณคีรี และอีกหลายที่รอบเขาแดง ที่ยังไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุด พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกนายกอง จันทร์สว่าง นายกเมืองสิงหนคร ลูกชายของนายชาญชญาและนางณัฏฐ์ณรัน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดงและโบราณสถานเขาน้อย






ช่วงเวลา 3 เดือนกว่า หลังจากนายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เข้าแจ้งความ เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบพื้นที่โบราณสถานเขาแดงและโบราณสถานเขาน้อย ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา กรมธนารักษ์ กองทัพเรือ ตำรวจ หรือแม้กระทั่ง กอ.รมน.ก็มา แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จนนายบรรจง นะแส ตั้งฉายาให้การตรวจสอบของหน่วยงานราชการในคดีนี้ว่า "รำวงเวียนครก"

หลายคนกลัวจะซ้ำรอยเหมือนคดีเก่าเมื่อครั้งปี 2557 ที่แม้ว่าสำนวนการสอบสวนของตำรวจจะส่งไปถึงอัยการแล้วก็ตาม แต่อัยการกลับไม่ส่งฟ้อง ซึ่งครั้งนั้นก็ไม่มีใครทราบว่า เป็นเพราะสำนวนอ่อนหรือว่าเพราะเหตุอื่นอันใด


นอกจากนี้ นายชาญชญา จันทร์สว่าง นอกจากจะเป็นพี่เขยของนักการเมืองระดับชาติ อย่างนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ แม้ว่านายเดชอิศม์จะนั่งโต๊ะแถลงว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี ถึงกับท้าว่าจะเลิกเล่นการเมือง แต่ประวัติทางการเมืองของนายชาญชญาก็อยู่ในระดับโชกโชนจนหลายคนที่ติดตามกลัวว่าจะมีผลต่อคดีบุกรุกโบราณสถาน

ตลอดระยะเวลาการครองตำแหน่ง "นายกเล็กเมืองสิงหนคร" อันยาวนานนับ 20 ปี ไม่ว่าใครที่ประกาศตัวว่าจะเป็นคู่แข่งลงชิงตำแหน่งจะต้องมีอันเป็นไป เช่น นายหมัดแสล๊ะ เส็นลิหมีน” ที่ประกาศตัวลงสมัครเมื่อปี 2556 ถูกมือปืนฆ่าตายก่อนการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน

และครั้งนี้ ในคดีบุกรุกโบราณสถานเขาน้อย นายชาญชญาก็ชิงมอบตัวหลังจากที่ทราบว่า ศาลจังหวัดสงขลาได้อนุมัติหมายจับที่ จ.203/2565 ลงวันที่ 26 เมษายน 2565 ตามคดีอาญาที่ 154/2565 ได้เพียง 1 วัน จนชาวบ้านตั้งคำถามว่า นายชาญชญารู้ได้อย่างไรว่าศาลจังหวัดสงขลาอนุมัติหมายจับแล้ว

ดังนั้น ครั้งนี้ ภาคประชาชนชาวสงขลาจึงพยายามลงแรงเป็นอย่างมาก เพื่อให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาการบุกรุกโบราณสถานเขาแดงและโบราณสถานเขาน้อยให้ได้เสียที รวมทั้ง นำคนผิดทั้งขบวนการมาลงโทษให้ได้





29 เมษายน 2565 ภาคประชาชนชาวสงขลาจึงจัดงานนิทรรศการขึ้นที่ย่านเมืองเก่า จ.สงขลา ในชื่อ "บาดแผลของแผ่นดิน" โดยในงานทั้งจัดนิทรรศการภาพถ่าย อ่านบทกวี ไฮปาร์ก การแสดง เพื่อร่วมแสดงออกถึงการปกป้องโบราณสถานของ จ.สงขลา

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา บอกเล่าถึงงานครั้งนี้ว่า "การขับเคลื่อนครั้งนี้ไม่ใช่เพียงปกป้องโบราณสถานเขาแดงเขาน้อยไม่ให้แหว่ง แต่เป็นการขจัดหมอกมัวของอิทธิพลมืดที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายให้เป็นตัวอย่าง"

"ตัวอย่างนี้ชัดว่า ถ้าประชาชนคนสงขลาไม่ลุกขึ้นสู้และยืนหยัดเคียงข้างสำนักศิลปากร คดีนี้คงได้เพียงคนขับรถขุดเป็นจำเลย และ ผอ.ข้าราชการดีๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ อิทธิพลใหญ่จะยังกินป่ากินเขาต่อไป"

"ภารกิจสร้างสงขลาให้น่าอยู่ เป็นเมืองปลอดอิทธิพล รักษาสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ฐานทรัพยากร เป็นภารกิจภาคประชาชน ราษฎร์ช่วยรัฐขจัดภัยแผ่นดินแล้ว คนถืออำนาจรัฐกล้าๆ หน่อย ประชาชนจะเคียงข้างปกป้องคุ้มภัยให้เอง"


นอกจากนี้ ตัวแทนสมาคมสมาพันธ์คนคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ยังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กรณีมีผู้บุกรุกพื้นที่โบราณสถานเขาแดงและโบราณสถานเขาน้อย

นายสีห์ อภิชยเศรษฐ์ นายกสมาคมสมาพันธ์คนคาบสมุทรสทิงพระ เปิดเผยว่า นอกจากยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการฯ แล้ว ยังได้ทำเรื่องถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ เพื่อเอาผิดกับกลุ่มก่อเหตุได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วกว่าการให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ดำเนินการ

ด้านนายบรรจง นะแส บอกว่า ภาคประชาสังคมยังไม่ไว้วางใจ ได้เตรียมที่จะยื่นเรื่องถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อร้องขอให้ร่วมตรวจสอบในคดีความผิดกรณีบุกรุกโบราณสถาน โดยเฉพาะในประเด็นเส้นทางทางการเงิน ที่เชื่อมโยงกันในกลุ่มเครือญาติของผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นญาติของนักการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะการแสดงบัญชีทรัพย์สิน/หนี้สินของนักการเมืองรายหนึ่งที่มีทรัพย์สินกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งประชาชนเองสนใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

"นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างดำเนินการขอทราบข้อมูลในคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดงและเขาน้อยเมื่อหลายปีก่อนที่มีไม่น้อยกว่า 10 คดีว่าดำเนินการไปอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ก่อเหตุในครั้งนี้และมีการสั่งฟ้องคดี รวมถึงคดีเงียบหายไปกี่คดี โดยจะใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารในการยื่นเรื่องไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา"

และล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ภาคประชาชนชาวสงขลา นำโดยนายบรรจง นะแส ได้ไปยื่นหนังสือถึง ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดสงขลา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบด้วยอีกทาง

คดีนี้ ภาคประชาชนมุ่งมั่นจะให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาให้ได้ เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะยังมีแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีอีกหลายกรณีใน จ.สงขลา ที่พบการบุกรุกและทำลาย เช่น หินปักหลุมฝังศพที่เชื่อได้ว่าคือคู่ของหินปักหลุมฝังศพชิ้นที่มีอักษรชวาโบราณ ได้หายไปจากกุโบร์สุลตานสุลัยมาน ชาห์ (โต๊ะหุม) ข้าหลวงผู้สำเร็จราชการนครสงขลา ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

หากคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดงและโบราณสถานเขาน้อย ภาคประชาชนต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง โบราณสถานใน จ.สงขลา เมืองที่ประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี ก็คงต้องเสี่ยงที่จะถูกบุกรุกทำลายอีก ส่วนที่ถูกบุกรุกทำลายไปแล้วก็คงยากที่จะจับผู้กระผิดมาลงโทษได้

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]