พฤษภาทมิฬ 2535

 


รายงานพิเศษ โดย.. เกษม ลิมะพันธุ์ สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของไทย หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นเวลา 30 ปีมาแล้ว ที่นักศึกษาประชาชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล เป็นการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2535

สาเหตุเริ่มต้นขึ้นเมื่อ รสช.มี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหวัน แล้วแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้ง นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม พรรคที่ได้รับการสนับสนุนจาก รสช.ได้คะแนนมากที่สุด

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเป็นการตระบัดสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก จนได้รับฉายา”เสียสัตย์เพื่อชาติ”จากสื่อมวลชน

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 เรียกกันว่าเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ (Black May) เมื่อนักศึกษาและประชาชนประมาณ 500,000 คนร่วมชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่เวลา 15.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เวลา 21.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าตำรวจและทหารสกัดกั้นไว้ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกกันว่า "กำแพงเบอร์ลิน" ผู้ชุมนุมพยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ให้เปิดทางแต่ได้รับการปฏิเสธ บางส่วนจึงเริ่มรื้อรั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าใส่จนน้ำหมด แล้วสูบน้ำจากคลองรอบกรุงซึ่งเป็นน้ำเน่าเหม็นฉีดใส่ฝูงชน

เวลา 00.30 น.ของวันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มชายหัวเกรียนสวมเสื้อเกราะในราชการสงคราม บุกเข้าทำลายและเผา สน. นางเลิ้ง โดยรัฐบาลได้ระบุว่าเป็นฝีมือของนักศึกษารามคำแหงและธรรมศาสตร์ รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้แผนไพรีพินาศขั้นที่ 3 คือปราบปรามขั้นเด็ดขาด

เวลา 15.00 น. ทหารและตำรวจกว่า 6,000 คนพร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะได้เข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายร้อยคน สูญหายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ภาพดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้รอดชีวิตบางส่วนจึงย้ายไปชุมนุมต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันที่ 20 พฤษภาคม ช่วงค่ำกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน

เวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน

วันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง วันต่อมาได้ประกาศลาออก จากนั้นได้ลี้ภัยไปต่างประเทศระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยตามปรกติ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ว่า ใครคือผู้สั่งฆ่าประชาชน? มือที่สามมีจริงหรือไม่? ใครคือผู้เผา สน. นางเลิ้งตัวจริง? ศพของประชาชนที่เสียชีวิตอยู่ที่ไหน?

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]