ระวัง! หลุมพรางที่ "บีอาร์เอ็น" ขุดดักหวังปูทางต่อรอง-กดดันบนโต๊ะเจรจาสันติสุข
บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก
วันที่ 14 พ.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ครบกำหนด “หยุดยิง” หรือ "ไม่ก่อเหตุร้าย" ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นการลงนามระหว่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทย กับนายหิพนี มะเระ หรืออิหม่ามบันนังสตา หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของบีอาร์เอ็น
แม้ยังไม่ถึงกำหนดแต่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็เชื่อมั่นว่า การลงนามยุติการก่อการร้ายเดือนรอมฎอนครั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลง และประสบความสำเร็จน่าพอใจ ขณะที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยได้แถลงข่าวไปแล้วว่า จะมีกาจัดพูดคุยสันติสุขขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้
ก็ไม่ทราบว่าฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาคที่ 4 ส่วนหน้า มีการประเมินหรือวิเคราะห์สถานการณ์อย่างไร ใครได้ใครเสีย เพราะโดยข้อเท็จจริงการไม่มีเหตุร้ายในห้วงรอมฎอนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ไฟใต้ “เดินมาถูกทาง” และเป็น “จุดเปลี่ยน” ในทางที่ดี
ข้อแรกการไม่มีเหตุร้าย ไม่ได้หมายความว่าคนมลายูในพื้นที่จะชื่นชมหน่วยงานความมั่นคง แต่น่าจะไปชื่นชมฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนห้วงรอมฎอนปีนี้มากกว่า อันทำให้ปฏิบัติภารกิจทางศาสนาได้โดยไม่ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนตลอด 18 ปีที่ผ่านมา
ปกติช่วงรอมฎอนถือเป็นเดือนที่ทหารและตำรวจติดตามความเคลื่อนไหว “แนวร่วม” อย่างเกาะติด เพราะมักจะแอบกลับมาปฏิบัติศาสนกิจกับครอบครัว แต่ปีนี้มีการลงนามหยุดยิง จึงถือการจัดระเบียบใหม่ในองค์กรของบีอาร์เอ็นเอง
หาก “หน่วยข่าว” เกาะติดสถานการณ์ก็จะพบว่า ห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้กลับมีการเคลื่อนไหวของ “ปีกเยาวชน” บีอาร์เอ็นอย่างคึกคักมากกว่าทุกๆ ปีด้วยซ้ำ เพราะมีการหยุดการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยเสือให้ออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เหมือนเปิดโอกาสบีอาร์เอ็นได้ขับเคลื่อนงานด้านการเมืองได้อย่างเต็มที่
บีอาร์เอ็นรู้ดีว่าการจะให้พื้นที่ชายแดนใต้เดินไปตามความต้องการ ต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและให้อำนาจกับเยาวชนชาย-หญิงที่เรียกว่า “เปอร์มูดอ” และ “เปอร์มูดี” ซึ่งหลังสิ้นสุดรอมฎอนเพียง 3 วันได้เกิดรวมตัวจัดกิจกรรมแสดงอัตลักษณ์ของ “เยาวชนปาตานี” ในหลายพื้นที่
มีการร้องเพลงปลุกใจและประกาศเจตนารมณ์ว่า เยาวชนคือความหวังของชาติ จะร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว จะต่อสู้กับผู้รุกราน จะบำรุงศาสนาและวัฒนธรรมบนผืนแผ่นดินนี้ให้เกิดเอกภาพ เพื่อประชาชนอิสลามด้วยความมุ่งมั่นและตระหนักในชาติมาลายูปาตานี เป็นต้น
รอมฎอนปีนี้จึงถือว่ามีการประกาศจัดตั้ง “วันเยาวชนปาตานี” ชัดเจนที่สุด หลังจากที่เคยจัดกิจกรรมรวมตัวติดต่อกันมาหลายปี แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่หลากหลายและยิ่งใหญ่เท่ากับในปีนี้ ก่อนจบกิจกรรมยังมีการเดินทางไป “เคารพศพ” แนวร่วมที่ถูกทหารวิสามัญที่กุโบร์แห่งหนึ่งใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานีด้วย
แน่นอนถ้ามองด้วยสายตาของคนโลกสวย นี่คือการประกาศเจตนารมณ์เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ชนชาวมาลายูปาตานี ซึ่งก็ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แถมมีบางคนมองด้วยสายตาชื่นชมด้วยซ้ำ แต่ในมุมความมั่นคงกลับเห็นเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ไม่ใช่แค่จับตามองใกล้ชิด แต่ต้องลงลึกถึงเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
เพราะหลักฐานที่หน่วยงานความมั่นคงรวบรวมไว้พบว่า มีการปักธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็นร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่ง อีกทั้งภาคประชาสังคมที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นปีกการเมืองบีอาร์เอ็น ได้มีส่วนขับเคลื่อนกิจกรรมในหลายพื้นที่อย่างเปิดเผย เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่หมิ่นเหม่เท่านั้น
ถ้ากิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่มีเบื้องหลัง ถือว่าเป็นการแสดงออกของเยาวชนที่ควรแก่การยกย่องชื่นชม เพราะเป็นการปกป้องมาตุภูมิและอัตลักษณ์ของชาวมาลายูที่ไม่ต้องการให้ถูกรุกราน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเป็นหน้าที่คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตชองชาติควรทำ ซึ่งรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนด้วยซ้ำ
แต่ถ้าเป็นไปเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันในหน่วยงานความมั่นคงว่า บีอาร์เอ็นมีการจัดตั้งกองกำลังเยาวชนชาย-หญิงไว้สำหรับการปฏิวัติมาเป็นเวลานาน นั่นหมายถึงการเดินหน้างานการเมืองที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ถือเป็นการเปิดหน้าชนที่น่าจับตาที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
มีมุมที่มองว่ากิจกรรมครั้งนี้ดูเหมือนการ “กำหนดใจตนเอง” ตามกฎบัตรสหประชาชาติเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ องค์กรชาติตะวันตกอย่าง “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ที่ได้เข้าไปให้ความรู้แก่ภาคประชาสังคมปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
มิคิดไปถึงว่าเป็นการแสดงศักยภาพให้ชาติตะวันตกและโลกมุสลิมรับรู้ ไว้ใช้ต่อรองและกดดันรัฐบาลไทยบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขที่กำลังจะมีขึ้น กระทั่งเป็นการทดสอบความพร้อมกลุ่มเยาวชนที่เคยมีข่าวว่าได้สร้าง “กองกำลังเด็กกำพร้า” ไว้กว่า 10,000 คนเพื่อก่อการปฏิวัติในอนาคต
ถ้าข้อสังเกตดังกล่าวเป็นจริง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และคณะพูดคุยสันติสุขจะทำอย่างไรต่อไป เพราะการ “รู้เขา-รู้เรา” เท่านั้นที่จะทำให้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบต่อฝ่ายบีอาร์เอ็น
จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และคณะพูดคุยสันติสุขเคยศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างบีอาร์เอ็นอย่างถ่องแท้แล้วหรือยัง รู้หรือเปล่าว่าบีอาร์เอ็นมีแผนงานรวม 15 แผนงาน สายบังคับบัญชา 7 ขั้น มีใครรับผิดชอบและสั่งการอย่างไร และแนวร่วมในพื้นที่มี 6 ภารกิจอะไรบ้าง
นี่คือหัวใจสำคัญของการแพ้-ชนะ ไม่ใช่แค่หยุดยิงช่วงรอมฎอน เพราะนั่นอาจเป็น “หลุมพราง” ที่บีอาร์เอ็นขุดดักเอาไว้
ไม่มีความคิดเห็น: