ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา จุดยุทธศาสตร์หนึ่งอันสำคัญยิ่งของญี่ปุ่นต่อการสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา คือ ประเทศไทย
เหตุผลสำคัญก็เนื่องมาจากประเทศไทยอยู่บริเวณศูนย์กลางภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
และเป็นเพียงประเทศเดียวในแถบนี้ ที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก
หลังจากญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ประเทศไทยได้เพียง 3 วัน ก็ได้ยื่น “ร่างข้อตกลงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เกี่ยวแก่การใช้การใช้รถไฟในทางการทหาร” ต่อกรมรถไฟ(ชื่อเรียกในขณะนั้น)
ก่อนที่จะมีการลงนามในกติกาสัญญาสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญแก่ทางรถไฟสายใต้มากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ในการขยายอำนาจเข้าสู่พม่าและมลายู
หนึ่งในทางรถไฟสายใต้ที่มีผู้จดจำได้มากที่สุดก็คือ ทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งเราจะได้พบเห็นเรื่องราวและข้อมูลมากมาย
แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเส้นทางสายใต้ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยมากนัก
“ทางรถไฟสายใต้ในเงาอาทิตย์อุทัย” The Southern Railways in the Shadow of the Rising Sun เป็นหนึ่งในหนังสือ ซึ่งเขียนถึงการเข้ามาควบคุมและใช้เส้นทางรถไฟสายใต้ของไทยในการขนส่งกำลังบำรุงให้แก่ทหารญี่ปุ่นในพม่าและมลายู
พวงทิพย์ เกียรติสหกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้เขียน พิมพ์ครั้งแรกปี 2554 โดยโครงการตำราและหนังสือคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื้อหาครอบคลุมการดำเนินนโยบายสงครามของญี่ปุ่นที่มีต่อไทย การควบคุมเส้นทางรถไฟและผลกระทบต่อกรมรถไฟไทยและการดำเนินชีวิตของคนไทยในขณะนั้น
รวมทั้งยังทำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างในช่วงเวลานั้น..
ไม่มีความคิดเห็น: