รายงานพิเศษ โดย.. เกษมลิมะพันธุ์ สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย
การประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ณ วันนี้ จะไม่เรียกนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ หรือช่างภาพ นักข่าววิทยุ นักข่าวช่างภาพโทรทัศน์แต่จะเรียกรวมกันว่า “สื่อมวลชน”
วันนี้ในอดีต เมื่อ 31 ปีที่แล้วตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น"วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก
“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก”ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต้องการย้ำให้เห็นถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย เพราะในระยะหลังๆ มีนักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามเสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มจำนวนมากขึ้น
การกำหนดวันดังกล่าวก็เพื่อระลึกถึงข้อปฏิบัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อ และเพื่อเป็นการปกป้องนักข่าวที่ถูกโจมตีเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น การปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19
สืบเนื่องจากที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “กว่าจะมาเป็นข่าว” สำหรับผลงานจากสื่อมวลชน และหัวข้อ “อยากเห็นภาพนี้เป็นข่าว” สำหรับผลงานจากประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาส “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day) ประจำปี 2565 นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฎิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ระบุว่าการตัดสินภาพถ่ายได้เสร็จสิ้นลงแล้ว คณะกรรมการตัดสินภาพได้คัดเลือกภาพถ่ายที่ชนะรางวัลประเภทละ 8 ภาพ
และมีภาพถ่ายที่ชนะรางวัล “Popular Vote” ในประเภทสื่อมวลชนด้วย 1 ภาพ โดยนับจากยอดแชร์-ไลค์อันดับสูงสุดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งความพิเศษของปีนี้คือภาพชนะเลิศที่คณะกรรมการคัดเลือก ปรากฏว่าเป็นภาพเดียวกันที่ได้ Popular Vote ด้วย“เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่เข้าตาทั้งกรรมการ-เข้าตาทั้งคนดูเลยทีเดียว”
รางวัลชนะเลิศ (เงินรางวัล 10,000 บาท) และ รางวัล Popular Vote (เงินรางวัล 5,000 บาท) ผลงานโดย Patipat Janthong / Voice
ความเห็นของกรรมการ : ประชาชนที่รับชมข่าวสารทางบ้าน คงคุ้นเคยกับภาพการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ก็อาจจะไม่ทราบถึงความแรงของน้ำที่ฉีดออกมา (บางคนคิดว่าเหมือน "เล่นน้ำสงกรานต์" ก็มี)
ถ้าหากสังเกตจากภาพนี้ เราเห็นเศษไม้ที่แตกกระจายฟุ้งขึ้นเมื่อน้ำปะทะกับต้นไม้ ไม่ต้องพูดถึงแรงปะทะกับร่างกายคนถ้าหากโดนเข้าจังๆ ขณะที่นักข่าว-ช่างภาพต้องรีบหลบกันจ้าละหวั่น บางคนก้มลงสุดตัวเพื่อปกป้องกล้องถ่ายภาพจากละอองน้ำ แต่บางคนก็ยกกล้องขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพสถานการณ์ตรงหน้า นับเป็นภาพถ่ายที่สื่อให้เห็นเหตุการณ์จริง "กว่าจะมาเป็นข่าว" ได้อย่างยอดเยี่ยม
ไม่มีความคิดเห็น: