ถ้าไม่อยากตกเป็น "เบี้ยล่าง" คณะพูดคุยดับไฟใต้ต้องเจรจากับตัวจริง
บทความ โดย ไชยยงค์ มณีพิลึก
แม้เป็น “ความสงบสุขชั่วคราว” แต่ก็ขอแสดงความยินดีกับชาวชายแดนใต้ที่ผ่านพ้นเดือนถือศีลอดปี 2565 ไปแบบไม่มีเหตุรุนแรงเหมือนทุกๆ ปีนับตั้งแต่เกิดไฟใต้ระลอกใหม่เมื่อปี 2547 ที่ “บีอาร์เอ็น” เริ่มปฏิบัติการทางทหาร โดยการบ่มเพาะของอุสตาซที่บิดเบือนหลักการศาสนาว่า ฆ่าศัตรูในห้วงรอมฎอนจะได้บุญเพิ่มถึง 10 เท่า
รอมฎอนนี้น่าจะเป็นปีแรกที่กองกำลังบีอาร์เอ็นไม่ก่อเหตุ ทั้งการใช้อาวุธและสัญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อตอกย้ำให้รำลึกวันครบรอบ “เหตุการณ์กรือเซะ” เมื่อ 28 เม.ย.2547 ที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้วิสามัญฯ กลุ่มแนวร่วมไปเกือบ 30 ศพ
ความสงบสุขชั่วคราวเป็นผลพวงจาก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ได้ลงนามหยุดยิงกับ นายหิพนี มะเระ หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีตัวแทนองค์กรชาติตะวันตก 2 คนร่วมเป็นสักขีพยาน
หนึ่งในข้อตกลงหยุดยิงคือ ฝ่ายรัฐไทยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดบังคับใช้กฎหมายกับกองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมบีอาร์เอ็น และอนุญาตให้ผู้มีหมายจับกลับบ้านเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจกับครอบครัวได้ในห้วง 40 วันของเดือนรอมฎอน ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นให้สัญญาว่าหยุดปฏิบัติการทางทหารเช่นกัน
ตรวจสอบสถานการณ์ 1-30 เม.ย.ที่ผ่านมาพบว่า มีเหตุบึ้ม 1 ครั้งที่ ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วิธีก่อเหตุและประกอบระเบิดเหมือนที่กองกำลังบีอาร์เอ็นทำ เพียงแต่มีสัญลักษณ์กลุ่ม “พูโลจี 5” อยู่ในที่เกิดเหตุ และนายคัสตูรี มะห์โกตา หัวหน้ากลุ่มออกแถลงการณ์รับสมอ้างเพื่อบอกว่า ยังมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย
และมีเหตุแขวนป้ายผ้า 1 ครั้งที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยมีการทิ้งสัญลักษณ์ไว้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม “พูโล” หรือ “พูลา” ที่แตกออกจาก “พูโลเก่า” ที่มีนายซำซูดิง คาน เป็นผู้นำ ซึ่งก็เป็นไปเพื่อต้องแสดงตัวตนให้ฝ่ายรัฐไทยรับรู้ว่ายังมีอยู่เช่นกัน
นอกนั้นก็มีลอบยิงและประกบยิงหลายเหตุการณ์ในหลายพื้นที่ ผู้ตายและผู้บาดเจ็บมีทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะการฆ่า “พยานปากเอก” ในคดีทหารสังหารชาวบ้าน 3 ศพที่เทือกเขาตะเวใน จ.นราธิวาส อันเป็นคดีสำคัญที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นออกมาเรียกร้องให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เป็นการกระทำของฝ่ายไหนกันแน่
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจับตามองคือ การเคลื่อนไหวของหลายประเทศทั้งอเมริกาและยุโรปที่ส่งตัวแทนทูตและเข้ามาเยือนพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น เอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์คือ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ล่าสุด เมื่อ 28 เม.ย. มีอุปทูตอเมริกาเข้าพบหน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาสังคม เป็นต้น
ประเด็นเรื่องที่ประเทศเหล่านี้ต้องการทราบเกี่ยวกับปัญหาไฟใต้คือ เรื่องราวด้านสิทธิเสรีภาพและการล่วงละเมิด ความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนขององค์กรชาติตะวันตก ทั้ง “เจนีวาคอลล์” พี่เลี้ยงให้บีอาร์เอ็นที่อยู่เบื้องหลังการลงนามหยุดยิงในเดือนรอมฎอนดังกล่าว
รวมถึง “องค์กรกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ที่แม้ย้ายสำนักงานจาก จ.ปัตตานี ไปตั้งหลักที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ยังคงปฏิบัติการเป็นพี่เลี้ยงให้ภาคประชาสังคมใต้ปีกการเมืองบีอาร์เอ็นเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะแอบให้ไฟเขียว “นายพล” หลายคนเคลื่อนไหวให้เป็นไปตามต้องการ
แต่มีสิ่งที่จะละเลยไม่ติดตามกันต่อเนื่องไม่ได้อีก 2 ประเด็นคือ ประเด็นหนึ่ง “สถานการณ์ไฟใต้” จะดำเนินต่อไปอย่างไรหลังครบกำหนดหยุดยิงห้วง 40 วันของเดือนรอมฎอน แนวร่วมที่มีหมายจับแต่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ฝ่ายทหารที่ต้องปิดล้อมตรวจค้นและฝ่ายตำรวจที่ต้องจับผู้ทำผิดกฎหมายจะทำกันอย่างไรต่อไป
ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในส่วนบีอาร์เอ็นยังไม่มีความชัดเจนว่าหลังพ้นห้วง 40 วันของเดือนรอนฎอนไปแล้วจะกลับมาก่อเหตุรุนแรงอีกหรือไม่ ซึ่งถึงวันนี้ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และบีอาร์เอ็นยังไม่มีการส่งใครออกมาให้คำตอบที่ชัดเจนกับสังคมได้เลย
อีกประเด็นหนึ่งหลังจากนี้ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” จะเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยต้องกำหนดเกมการเล่นให้รอบคอบมากขึ้น เพราะการหยุดยิงถึง 40 วันในครั้งนี้ทำได้จริง ถือเป็นการยกระดับการยอมรับของฝ่ายบีอาร์เอ็นต่อทั้งฝ่ายไทยและองค์กรต่างประเทศเทียบเท่าสากล หรือเช่นเดียวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ที่สำคัญบีอาร์เอ็นได้แสดงให้คนชายแดนใต้และคนไทยทั้งประเทศรับรู้ว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งการให้ฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนตั้งแต่เกิดไฟใต้ระลอกใหม่ต้นปี 2547 ซึ่งเวลานี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ศพและบาดเจ็บเป็นเรือนหมื่น กรณีเช่นนี้ต่อไปจะมีการดำเนินการอย่างไรกันบ้าง
การที่บีอาร์เอ็นแสงดงตัวตนผ่านคณะเจรจาที่มีนายหิพนี มะเระ และแสดงศักยภาพสั่งการกองกำลังติดอาวุธให้หยุดการปฏิบัติการได้อย่างเด็ดขาด สิ่งนี้จะไม่ส่งผลให้ได้เปรียบในการต่อรองหรือถึงขั้นกำหนดเกมบนโต๊ะพูดคุยในครั้งต่อไปล่ะหรือ
แม้บีอาร์เอ็นจะชาญฉลาดที่แสดงตัวตนจนยกระดับเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ยังดำรงตนเป็น “องค์กรลับ” ที่ปิดบังต่อไป อย่างกรณีนายหิพนี มะเระ และคณะที่เป็นตัวแทนเจรจากับฝ่ายรัฐไทยก็ยังมากมายไปด้วยความเคลือบแคลงว่า มีอำนาจนำแท้จริงหรือเป็นแค่หุ่นเชิดของบวนการกันแน่
ดังนั้น ในการเจรจาต่อไปถ้าให้ถูกต้องและทันกลเกม ฝ่ายไทยต้องยื่นข้อเสนอโดยตรงกับ 3 คนนี้คือ 1.นายกาแม เวาะเล หรือ “ฆอซาลี” ประธาน 2.นายนิเซะ นิฮะ หรือ “เปาะนิอาซิ” เลขาธิการ และ 3.“อิหม่ามเฮงแห่งเจาะไอร้อง” ที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณของบวนการบีอาร์เอ็น
วันนี้เราต้องทำให้บีอาร์เอ็นยุติบทบาทการเป็นองค์กรลับ แล้วนำขึ้นมาอยู่บนดินเพื่อให้การเจรจาเปิดเผยในทุกมิติ เพราะผลของข้อตกลงหยุดยิงห้วงรอมฎอนปีนี้ทำให้บีอาร์เอ็นได้รับการยกระดับเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนในระดับสากลสำเร็จแล้วอย่างสมบูรณ์
ถ้าทำได้เช่นนั้นประเทศไทยก็จะไม่ถูกด้อยค่าว่าส่งคณะไปเจรจาได้แค่กับหุ่นเชิดของบีอาร์เอ็น
อีกทั้งอย่าลืมว่าฝ่ายมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกก็จริง แต่โดยข้อเท็จจริงคือผู้ร่วมกับฝ่ายบีอาร์เอ็นและองค์กรจากชาติตะวันตกกำหนดเกมบนโต๊ะ เพราะไม่เช่นนั้นไทยจะเป็น “เบี้ยล่าง” ของกระบวนการเจรจาตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น: