ม.นราธิวาสตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์หนุนภูมิปัญญา 15 ตำบลสร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
U2T Narathiwat Shop ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตำบล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมสนับสนุนการขาย สร้างรายได้และเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการที่จะร่วมกันพื้นฟูเศรษฐกิจให้แก่ตำบลใน จ.นราธิวาส
จากการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัฒกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเน้นฟื้นฟูคุณภาพชีวิตระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน พัฒนาอาชีพในชุมชน ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้
จึงคัดเลือกจากผู้ว่างงานรวม 15 ตำบลในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสได้เข้าร่วมโครงการ เข้าฝึกอบรมและปฏิบัติให้แก่ผู้เข้าร่วมฟรี เพื่อส่งเสริม และสร้างอาชีพการทำงานของแต่ละตำบล ให้ชาวบ้านที่ว่างงาน เนื่องจากถูกผลกระทบโควิด-19 โดยเอาภูมิปัญญา วัตถุดิบที่มีในตำบลของตัวเองมาพัฒนา สร้างสรรค์ ให้เป็นในรูปแบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยปัจจุบัน พร้อมตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตำบล หรือ U2T NARATHIWAT SHOP เพื่อให้ชาวบ้านได้มีช่องทางการจำหน่ายที่แน่นอน และพร้อมสนับสนุนการขาย สร้างรายได้ให้ตำบล ครอบครัว และตนเอง เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการที่จะร่วมกันพื้นฟูเศรษฐกิจให้ตำบลอย่างจริงจัง ตามนโยบายของรัฐบาล
ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ U2T Naratthiwat Shop สถานที่จำหน่ายสินค้าตำบลพื้นบ้าน หัตถกรรมและอื่นๆ ผลผลิตทางการเกษตร สินค้าแปรรูป เช่นการนำต้นกระจูด มาทำกระเป๋า หมวก ในรูปแบบทันสมัย ผ้าบาติก เสื้อมัดหมี่ ลูกหยีกวน น้ำผึ้งชันโรง เป็นต้น เป็นร้านที่สร้างรายได้ สร้างความสุขให้ชุมชน พร้อมมุ่งหวังให้คนในชุมชนได้นำภูมิปัญญามาพัฒนา ต่อยอดจากสิ่งที่มี มาเป็นอาชีพ และพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ตำบลให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
หมู่บ้านนากอหนึ่งใน ต.จอเบาะ อ.ยีงอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ เป็นหมู่บ้านที่มีเอกลักษณ์ประจำตำบลนั้นคือต้นลูกหยียักษ์บูโด ที่มีอายุกว่า 300 ปี ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือกรีดยาง แต่บางช่วงที่กรีดยางไม่ได้ เช่น ฤดูฝน อาชีพเสริมที่นี่คือ ทำลูกหยีกวน ทำกันได้ตลอดทั้งปี ถึงแม้ว่า ต้นลูกหยีจะให้ผลตามฤดูกาลเก็บได้ 2 ครั้ง ต่อปี แต่ผลลูกหยีแห้งตากเก็บไว้อย่างดี ก็สร้างรายได้ตลอดทั้งปีได้
การปลูกต้นหยี ไม่ได้ปลูกกันง่ายๆ และก็ใช่ว่าเราปลูกเองแล้ว เราจะได้กินผลลูกหยีอย่างแน่นอน ชาวบ้านบอกว่า คนปลูกไม่ได้กิน แต่คนกินไม่ได้ปลูก อันนี้เชื่อแน่นอน เพราะว่าต้นลูกหยีกว่าจะโต ต้นจะต้องมีอายุ 28- 30 ปีถึงจะออกผลให้เรากินได้ แล้วเราปลูกตอนนี้ จะได้กินไหม
วิธีการทำลูกหยีกวน ขั้นตอนแรก แกะเปลือกลูกหยีออกให้เรียบร้อย นำไปตากแห้ง จากนั้น ผ่าเม็ดข้างในออก พักทิ้งไว้ ต้มน้ำตาลทรายผสมน้ำผึ้งพอเดือด หรี่ไฟอ่อนๆ เคี่ยวให้นาน ประมาณ 2 ชั่วโมง พอได้ ปิดไฟรอให้เย็น แล้วนำมาเทลงในเครื่องกวนพร้อมลูกหยี จุดไฟ เปิดเครื่อง เครื่องก็จะทำงานโดยกวนให้ทั่วพร้อมปรับระดับความร้อนให้เหมาะ เมื่อทุกอย่างผสมผสานเข้ากันหมด ปิดไฟ และยกลง ตักใส่ถาด สักพัก แล้วนำมาปั้นเป็นก้อนให้พอดีคำลงบนภาชนะที่เตรียมไว้ รอจนเย็นสนิท จึงห่อได้
ลูกหยีกวนบูโด บ้านนากอ ที่มีรสชาติอร่อย ชิ้นคำพอดี หวานอมเปรี้ยว และผสมน้ำผึ้งชันโรง เป็นของดีเมืองนรา เวลาทานจะทำให้ ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ สดชื่น ถ้าใครสนใจสั่งซื้อสินค้า หรือ จะมาเที่ยว หรือซื้อทางออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ U2T NARATHIWAT SHOP ศูนย์รวมสินค้าจากชุมชน ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
รศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวถึงการพัฒนาในเรื่องของผลผลิตลูกหยี ซึ่งเป็นผลผลิตที่อยู่ในจังหวัดนราธิวาส ที่ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ ว่า เราก็ไปช่วยในส่วนของมหาวิทยาลัย ผ่านทางโครงการยูทูที โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมาศาสตร์เป็นแกนในการที่จะไปช่วย ใช้เทคโนโลยีไปช่วยในการผลิต ตั้งแต่ผลิตในเรื่องเครื่องของกะเทาะ เปลือกลูกหยี ทำยังไงให้กะเทาะได้เร็วและก็ไม่ติดเปลือกประมาณนี้ เครื่องกวน ลูกหยีที่จะออกมาเป็นลูกหยีกวน นอกจากนั้นก็ยังมีในส่วนของในเครื่องที่จะอบ ทำให้ลูกหยีแห้ง ต้องการให้แห้งได้เร็วขึ้น โดยใช้โซล่าเซลล์ อันนี้ก็เป็นส่วนที่มหาลัยลงไป โดยเฉพาะอีกอันหนึ่งก็คือ แพ็คเกจ ทำอย่างไรให้แพ็คเกจดูน่าสนใจ และดูดึงดูดทำให้ดูน่าซื้อยิ่งขึ้น
"อีกทางที่สำคัญคือ เรามียูทูที ที่จะรับมาจำหน่าย เวลาที่มีใครไปใครมา หรือแม้แต่บุคลากรของเรานักศึกษาของเรา ก็จะมาเป็นผู้ซื้อ รวมทั้งตัวเองก็ซื้อด้วย เพราะชอบบ้างเหมือนกัน นอกจากนี้ในส่วนของทางร้าน เขาก็ไม่ได้ขายเฉพาะในร้านอย่างเดียว เราก็ขายแบบออนไลน์ ซึ่งพอเวลาขายแบบออนไลน์ ส่งไปทั่วประเทศ บางอย่างส่งไปต่างประเทศก็มี แล้วต่างประเทศนี้ที่น่าสนใจก็คือ ราคาของไม่เท่าไร ไม่แพง แต่ราคาส่งแพง เขาก็ยอมนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ทางชาวบ้านหรือผู้ผลิตในพื้นที่ ได้รับโอกาสตรงนี้ ทั้งในเรื่องของการเพิ่มในส่วนของคุณภาพการผลิต และก็ในส่วนของตลาดการจำหน่าย"
รศ.ดร.รสสุคนธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ไปช่วยในส่วนของพัฒนาสิ่งเหล่านี้ที่มีอยู่แล้วในจังหวัดนราธิวาสในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพะในโครงการทางกระทรวง อว.ได้สนับสนุนก็มีโครงการ ยูทูที ที่เป็นฐานมาก่อน และเฟสที่ 2 ก็จะเป็น ยูทูที ทูบีซีจี ต่อเชื่อมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ ทำยังไงให้เขามีความเข้มแข็ง ทำยังไงให้เขาเพิ่มผลผลิต มีตลาดในการจำหน่าย เราก็ไปช่วยตามที่เราจะช่วยได้ ตรงนี้ก็คิดว่า เราก็ช่วยพัฒนาพื้นที่เพื่อความก้าวหน้าของประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น: