"อาเจะห์โมเดล" กลยุทธ์ 'บีอาร์เอ็น' หวังตั้งเขตปกครองตนเอง ขยับแนวร่วมเยาวชนโหมไฟใต้
บทความ โดย..ไชยยงค์ มณีพิลึก
คนจำนวนมาก อาจจะรวมทั้งบรรดา ”นายพล” ทั้งที่อยู่ในกองทัพบก ในกลาโหม ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และในกระทรวงการต่างประเทศ ที่นั่งอยู่ใน ”หอคอยงาช้าง” ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบในงาน "ดับไฟใต้" อาจจะตื่นตระหนกและตกใจกับปรากฏการณ์ดาวกระจายของแนวร่วมหรือสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน "บีอาร์เอ็น" ที่ปฏิบัติการวางเพลิง วางระเบิด สถานีบริการน้ำมัน ทั้ง ปตท. บางจาก และร้านสะดวกซื้อ 7-11และมินิ บิ๊กซี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมแล้ว 17 จุดด้วยกัน และยังแถมพ่วงด้วยการวางเพลิงเสาสัญญาณโทรศัพท์อีกต่างหาก
เหตุที่ต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะอะไร ก็เพราะว่า ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา นายพลและผู้นำหน่วย ผู้นำประเทศเหล่านี้ ถูกนายพลในพื้นที่ ซึ่งสืบทอดตำแหน่งมารุ่นสู่รุ่น หลอกให้เชื่อว่า สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ”เรามาถูกทางแล้ว” กองกำลังของบีอาร์เอ็นเหลือน้อย เราควบคุมพื้นที่และจำกัดเสรีภาพของแนวร่วมไว้ได้แล้ว
แม้แต่เรื่องที่เยาวชนชาย-หญิง รวมตัวกันเรือนหมื่น ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และที่อื่นๆ เพื่อประกาศการจัดตั้ง ”วันเยาวชนแห่งชาติปาตานี” นายพลบางคนก็เคลมว่า เป็นผลงานของตนเอง เพื่อให้มีการแสดงออกทางด้านอัตลักษณ์ของชนชาวมาลายู ทั้งที่ข้อเท็จจริง ไม่เคยรู้มาก่อน หลังเกิดเหตุก็วิ่งแจ้นหาข้อมูลกันจ้าละหวั่น เพื่อรายงานคนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง
ส่วน”ผู้เขียน” ไม่ตื่นตระหนกอะไรเลยกับสถานการณ์ของคืนวันที่ 17 สิงหาคม เพราะมีการบอกเหตุว่าจะมีการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม ตั้งแต่การยิงไทยพุทธ ที่เป็นพรานล่าสัตว์ การวางระเบิดแสวงเครื่องที่ศาลาพัก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส การทิ้งบอมบ์เข้าใส่ป้อมยามตำรวจทางหลวงกะลาพอ ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และการวางระเบิดแสวงเครื่องแบบ ”คิลลิ่งโซน” หรือ”ทุ่งสังหาร” ที่สวนยางของชาวบ้าน หลังวัดโคกโก ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ที่ทำให้มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เจ็บ-ตาย จำนวนหนึ่ง
เพราะในเดือนสิงหาคมนั้น เป็นเดือนที่มักจะมีการก่อเหตุมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมี "วันสัญลักษณ์” ที่บีอาร์เอ็นใช้กระตุ้นเตือนความทรงจำของชนชาวมาลายูและมุสลิมทั้งโลก ให้ระลึกถึง เช่นวันที่ 13 สิงหาคม เป็นวันที่ ”หะยีสุหลง” หายสาบสูญ ส่วนวันที่ 17 สิงหาคม เป็นวันชาติ หรือวันประกาศเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย และวันที่ 31 สิงหาคม คือวันชาติมาเลเซีย
โดยเฉพาะวันที่ 17 สิงหาคม ที่เป็นวันชาติของอินโดนีเซีย ที่แนวร่วมก่อเหตุวางระเบิด วางเพลิง ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ 17 จุด มีความหมายกับบีอาร์เอ็น 2 ประการด้วยกัน
ประการแรก การประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย กำลังสำคัญคือ ”เยาวชน” หลายปีมา บีอาร์เอ็นได้ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง เพื่อใช้เป็นกำลังสำคัญ เพื่อนำมาถึงความต้องการที่จะจัดตั้ง “เขตปกครองตนเอง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประการที่ 2 รูปแบบ หรือโครงสร้าง รวมทั้งการเรียกขานการจัดตั้งของบีอาร์เอ็นทั้งหมดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถอดแบบมาจาก ”อินโดนีเซีย” มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดอาเจะห์ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย จนได้รับชัยชนะเป็นเขตปกครองตนเอง ณ ขณะนี้
ส่วนวันที่ 31 สิงหาคม ที่เป็นวันชาติของมาเลเซียนั้น ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาถึงคำว่า ”เมอร์เดก้า” หรือ ”เอกราช” โดยในทุกปีของวันชาติมาเลเซีย แนวร่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะนำเอาธงที่เขียนคำว่า ”เมอร์เดก้า” ไปแขวนไว้ตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งพ่นสี อักษรคำว่า เมอร์เดก้า ตาม ถนน หนทาง แม้แต่หน้าฐานปฏิบัติการของทหาร ก็เคยถูกแขวนป้ายผ้าเหล่านี้มาแล้ว
ทั้งหมดคือเรื่องปกติของปฏิบัติการณ์ตามวงรอบของขบวนการบีอาร์เอ็น ไม่มีอะไรแปลก ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ”เก่าเกินไป” ทั้งในเรื่องของข้อมูลและเรื่องของการปฏิบัติการณ์ ทั้งการข่าวและการป้องกันในพื้นที่
ส่วนเรื่องที่ใหม่กว่านั้นคือ เรื่องของการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของฝ่ายรัฐไทยกับการพูดคุยสันติภาพของตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ถูกกำกับโดยองค์กรของชาติตะวันตก ฝ่ายรัฐไทยถูกยกระดับโดยไม่รู้ตัว หรือโดยที่ไม่มีความคิดและยังเข้าใจว่า ยังไม่ได้มีการยกระดับ เพราะยังไม่ได้จรดปากกาในการเซ็นเอกสารข้อตกลงตามที่บีอาร์เอ็นต้องการ
แต่..โดยข้อเท็จจริงการพูดคุยถูกยกระดับไปแล้ว ตั้งแต่ในการพูดคุย ที่มีฝรั่ง 2 คน มานั่งเป็นสักขีพยาน ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ล่าสุดมีการยกระดับด้วยการของให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไฟเขียวให้แกนนำของบีอาร์เอ็น ทั้งที่มีหมายจับและไม่มี เข้ามาร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเอ็นจีโอและซีเอสโอในพื้นที่ พร้อมทั้งขอให้ตั้ง ”มอนิเตอริ่ง ทีม” มาทำหน้าที่ “ตรวจสอบ สืบสวน หาข้อเท็จจริง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่ ”อาเจะห์” จะได้รับการเป็นเขตปกครองตนเอง วิธีการของอาเจะห์ก็แบบนี้ ขอให้มีการตั้ง ”มอนิเตอรี่ ทีม” โดยมีตัวแทนจากชาติต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ ตรวจสอบ สืบสวน ข้อเท็จจริง ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มาจาก สาเหตุอะไร และใครเป็นคนทำ
วิธีการที่จะให้มี ”มอนิเตอริ่ง ทีม” เกิดขึ้น คือ การสร้างสถานการณ์ให้มีความรุนแรง มีคนตาย มีคนเจ็บ มีการสูญเสีย ผู้คนอพยพออกจากพื้นที่ เช่นเดียวกับที่แนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็น ใช้อยู่ในขณะนี้ เช่น วางระเบิด ให้มีการ บาดเจ็บ ล้มตาย ให้ หวาดกลัว และอพยพออกจากพื้นที่
การพูดคุยเรื่องขอให้เทศกาลเข้าพรรษาเป็นการเข้าพรรษาสันติสุขเป็นการขายความโง่อีกอย่างหนึ่ง เพราะเข้าพรรษากับรอมฎอนเป็นคนละเรื่อง เข้าพรรษาเป็นเรื่องของ ”พระ” ในศาสนาพุทธ ไม่ได้หมายถึงประชาชนคนพุทธ เพราะคนพุทธไม่ได้เข้าพรรษาหรือจำพรรษาแบบเดียวกับพระภิกษุ แต่รอมฎอนเป็นเรื่องของประชาชน ที่นับถือศาสนาอิสลามทุกคน ที่ต้องถือศีลอด ถ้าเรื่องอย่างนี้ยังแยกกันไม่ออก ก็ไม่ควรไปทำหน้าที่ในการ ”ตีโง่” ให้บีอาร์เอ็นหัวเราะ
สิ่งที่คณะพูดคุยของรัฐไทยควรจะทำ ไม่ใช่เรื่องการเสนอเรื่องเข้าพรรษาสันติสุข หรือไปรีบเรื่องการตั้งมอเตอริ่ง ทีม แต่ต้องยื่นขอเสนอว่า ก่อนที่จะมีการพูดคุยในเรื่องสำคัญ ต้องขอให้บีอาร์เอ็นหยุดใช้หมู่บ้านจัดตั้ง ที่อยู่ตามแนวชายแดนมาเลเซีย หยุดการผลิตระเบิด เพื่อใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
และทีมพูดคุยของรัฐไทยต้องขอให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพูดคุยของบีอาร์เอ็น จาก ”หิพนี มะเระ” ที่วันนี้ไม่ได้เป็นแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็นแล้ว มาเป็น ”นิอาซิ นิฮะ” เลขาธิการบีอาร์เอ็น จึงจะสมเหตุสมผลของการพูดคุยที่ถูกต้อง
วันนี้ เราคุยกับ ”เบี้ย” ของบีอาร์เอ็น ที่ไม่ใช่แกนนำขบวนการ ซึ่งให้คำมั่นสัญญาใดๆ ไม่ได้ว่า ในอนาคตจะมีการปฏิบัติตามคำพูดที่ให้ไว้ เพราะพวกเขาเป็นเพียงตัวแทน ที่ไม่มีอำนาจในการสั่งการและในการบริหารขบวนการแต่อย่างใด
รวมทั้ง การไปเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตามคำเชิญของไอซีอาร์ซี เพื่อไปบอกรายละเอียดของการฆ่าคน ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการวิสามัญฆาตกรรม กองกำลังติดอาวุธ ที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะในกระบวนการสันติภาพไม่มีการการตายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น การไปรายงานถึงการปฏิบัติการตามกฎหมายต่อขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ถูกกระบวนการสันติภาพมองว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องความแตกต่างทางความคิด ที่ไม่ใช่อาชญากร จึงเป็นการ ”ตีโง่” ให้แก่องค์กรต่างชาติ ที่ต้องการจะมาแทรกแซงสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว
ปฏิบัติการเมื่อคืนวันที่ 17 สิงหาคม ของบีอาร์เอ็น เป็นปฏิบัติการของกลุ่มเยาวชนชาย-หญิง ที่ถูกจัดตั้งโดย "ดุลเลาะ แวมะนอ" ซึ่งถูกส่งเข้ามาทำหน้าที่จัดตั้ง ในฐานะของประธานสภาอูลามา เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ข่าวที่ระบุว่า ผู้เข้ามาก่อเหตุปลอมเป็นผู้หญิง อาจจะไม่ได้ปลอม แต่เป็นปฏิบัติการของเยาวชนหญิงจริงๆ ไม่ต้องการบอกให้ใครตกใจ แต่อยากจะบอกความจริงว่า ฝ่ายความมั่นคงอย่าดูแคลนกองกำลังของเยาวชนชาย-หญิง เด็กกำพร้า และหญิงหม้าย
และที่ต้องใส่ใจและเข้าใจให้ถูกต้องคือ ทุกปฏิบัติการในคืนวันที่ 17 สิงหาคม เขาไม่ต้องการให้มีความสูญเสีย เพราะคนส่วนใหญ่ ที่ใช้บริการในสถานที่ดังกล่าวเป็นมุสลิม จึงได้มีการประกาศวางเพลิง วางระเบิด และไล่ผู้คนออกจากสถานที่ก่อนปฏิบัติการ นี่คือ นโยบายที่เจนีวาคอลล์ได้อบรมให้แก่บีอาร์เอ็น
และเรื่องของการก่อการร้ายนั้นยังไม่จบ แต่จะมีการพุ่งเป้าไปที่คนไทยพุทธอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ที่ลดความรุนแรงลงกว่า 3 ปี รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่ ที่ได้ผล ทำให้คนไทยพุทธ ที่ทิ้งถิ่น เริ่มมีความหวัง เริ่มเดินทางกลับเข้าพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็นไม่ต้องการ ดังนั้นจึงต้องกลับมาใช้ความรุนแรงอีกครั้ง
ต่อจากนั้น เป้าหมายอาจจะเป็นสถานที่ราชการในส่วนที่อ่อนแอ และที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อที่จะให้มีการตั้ง ”มอนิเตอริ่ง ทีม” ตามที่บีอาร์เอ็นนำเสนอต่อคณะพูดคุย ตามนโยบายที่องค์กรต่างชาติวางแผนไว้ ก็ต้องติดตามดูว่า รัฐไทยและนายพลทั้งหลายจะเดินไปสู่กับดักตามที่เขาวางไว้หรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น: