จาก ร.ร.อนุบาลปัตตานีถึง 'กวนอิม' ที่สงขลา ได้เวลาทบทวนพหุวัฒนธรรม-สันติวิธีหรือยัง? ก่อนจะกลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสุม "ไฟใต้"!





บทความ โดย... เมือง ไม้ขม

จากการที่ได้ติดตามความขัดแย้งของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เป็นเรื่องสำหรับชาวพุทธและชาวมุสลิมมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน และมองด้วยความเป็นห่วงว่าความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นอาจจะลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน ที่อาจจะกลายเป็นความแตกแยกของคนในสังคม ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งของประเทศ ในยุคที่ ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา“ เป็นนายกรัฐมนตรี

เรื่องแรกคือ ความขัดแย้งในกรณีของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วันนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ตามการฟ้องร้องของทนายมุสลิม เพื่อให้โรงเรียนยกเลิกกฎระเบียบในการแต่งกาย ที่ห้ามมิให้นักเรียนที่เป็น ”มุสลิม” แต่งกายตามหลักศาสนา ซึ่งในโรงเรียนอื่นๆ หรือสถานศึกษาอื่นๆทำได้ ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการแก้ไขก่อนหน้านี้

แต่สำหรับโรงเรียนอนุบาลปัตตานี กลับมีข้อยกเว้น โดยอ้างว่าเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของวัด เป็น ”ธรณีสงฆ์” ที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเจ้าของที่ดินคือวัด ซึ่งถือปฏิบัติมานานกว่า 30 ปี โดยสังคมของคนในพื้นที่และผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็น ”มุสลิม” ที่ต้องการส่งบุตร-หลานเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัด ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และไม่เคยมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

ส่วนผู้ปกครอง ที่ต้องการให้บุตร-หลานแต่งกายตามหลักศาสนา ก็มีทางเลือกด้วยการให้บุตร-หลานเรียนยังโรงเรียนอนุบาลอื่นๆ ที่ไม่มีกฎระเบียบอย่างโรงเรียนอนุบาลปัตตานี

แต่เมื่อมีผู้ปกครอง 3-4 รายต้องการให้บุตร-หลาน ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้แต่งกายตามหลักศาสนา แต่กรรมการสถานศึกษาไม่ยินยอม เพราะต้องการให้ยึดกฎระเบียบ ที่มีอยู่และปฏิบัติมาโดยตลอด จึงกลายเป็นความขัดแย้ง ที่ร้าวฉานและลุกลาม จากการพูดคุยโดยสันติวิธี นำไปสู่การใช้กฎหมายตัดสิน

ปัญหาของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีจึงกลายเป็น ”เงื่อนไข” ความขัดแย้งในเรื่องของศาสนา ระหว่างคนที่นับถือศาสนาที่ต่างกัน และบานปลายไปสู่ความขัดแย้งในประเด็นอื่นๆ ที่พร้อมจะถูกหยิบยกมาตอบโต้และต่อสู้ระหว่างกัน



เช่นเดียวกับเรื่องที่ 2 คือการออกมาคัดค้านการสร้างรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธ ที่เอกชนมีโครงการจะก่อสร้างในที่ดินส่วนบุคคล ในหมู่ที่ 1 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีการออกมาคัดค้านจากผู้นำศาสนาอิสลามและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อมิให้มีการก่อสร้าง โดยอ้างว่า บริเวณนั้นไม่มี ”ชุมชนไทยพุทธ” อาศัยอยู่

ล่าสุด มีการรวมตัวของผู้นำศาสนา ผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาจำนวนหนึ่ง ประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อขอให้ยุติการสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม เพราะผู้นำศาสนาและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเห็นว่าไม่เหมาะสม

ประเด็นนี้ ขณะนี้ได้กลายเป็นเรื่องร้อนแรงในความรู้สึกของคนไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นยาวนานเกือบร้อยปี และ ”ไฟใต้” ระลอกใหม่ ที่เริ่มก่อเหตุเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ในความรู้สึกของคนไทยพุทธส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของมุสลิม และมองว่ามุสลิมในพื้นที่คือแนวร่วม มีทัศนคติว่าเป็นจำเลยร่วมอยู่ด้วย

ถ้ามองที่หลักของศาสนาแล้ว ทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ในศาสนาพุทธ การสร้างองค์สมมุติเทพ หรือการสร้างรูปเหมือนเพื่อการประดิษฐานให้ผู้ศรัทธาและเลื่อมใสมาเคารพสักการะเป็นวิธีการหนึ่งในการสอนให้คนเป็นคนดี ใช้ศาสนาเป็นที่ยึดมั่นและยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ซึ่งจะสร้างที่ไหนก็ได้ หากที่แห่งนั้นเป็นที่ของตนเอง และไม่ได้ไปรบกวนให้คนบริเวณนั้นได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งในแง่ของส่วนรวม

การสร้างรูปเหมือนอื่นๆ เช่น หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระภิกขุที่มีผู้คนเคารพและเลื่อมใส หรือองค์สมมุติเทพอื่นๆ เช่น “เจ้าแม่กวนอิม” เทพเจ้ากวนอู” และ อื่นๆ ทำให้หลายแห่งกลายเป็นศูนย์รวมให้ประชาชนเดินทางมาเคารพสักการะ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างงานและทำเงินให้คนในพื้นที่ เป็นประโยชน์กับส่วนรวม โดยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนและไม่ได้ทำให้ศาสนาอื่นๆ ถูก ”ด้อยค่า” หรือได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ดังนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการสร้าง “องค์เจ้าแม่กวนอิม” ที่”เขาล้อน” หมู่ที่ 1 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงของหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่ทุกฝ่ายเพียรพยายามที่จะชูคำว่า ”พหุวัฒนธรรม” มาใช้ โดยเฉพาะเพื่อใช้แก้ปัญหาของความมั่นคงในพื้นที่ ใช้เพื่อการดับไฟใต้ มีการใช้วาทกรรมที่สวยหรู เช่น "การแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่ในการกระทำใช่หรือไม่


ส่วนเรื่องของความเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเป็นแนวทางสันติวิธี ก็น่าจะเป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งของนักเคลื่อนไหว เพราะวิธีการของสันติวิธี คือการพูดคุยหรือเจรจา เพื่อรับฟัง”เหตุ”และ ”ผล” ของทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกัน แต่การที่ปฏิเสธว่า ไม่เอา ต้องหยุด และไม่ให้สร้าง นั่นไม่ใช่เรื่องของสันติวิธี แต่เป็นการ ”ยื่นคำขาด” โดยไม่ต้องรับฟังเหตุและผลต่างหาก

และที่จับประเด็นได้อีกอย่างคือคำว่า ”นายทุนเป็นเจ้าของโครงการ “ และเกี่ยวพันกับ ”นิคมอุตสาหกรรมจะนะ”ประเด็นนี้ก็มีคำถามว่าถ้า ”นายทุน” จะทำอะไรก็ตามที่เป็น ”สิ่งดีงาม” เกี่ยวกับเรื่องศาสนาล้วนเป็นเรื่องของความไม่บริสุทธิ์และมีเรื่องแอบแฝงอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้น ”นายทุน” ที่บริจาคเงินทองในการสร้างนั่น,นู้น,นี่ มากมายในประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่ ”แอบแฝง” ทั้งสิ้น ใช่หรือไม่



สิ่งเหล่านี้ต้อง ”แยกแยะ” ให้ออก การต่อต้าน ”นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการสร้าง ”เจ้าแม่กวนอิม” ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าเอาทั้ง 2 เรื่องมาปะปนกัน น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เหมือนกับมีอคติ หรือมีธง ว่าอะไรก็ตามที่เกิดจากเอกชน ที่เป็นกลุ่มทุน ที่เข้ามาเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรม จะต้องต่อต้าน โดยต้องการให้เห็นว่า นั่นคือ ”ปีศาจ” อย่างนั้นหรือ

เรื่อง ”นิคมอุตสาหกรรม” อาจจะไม่กระทบจิตใจคนไทยพุทธ แต่เรื่อง ”องค์เจ้าแม่กวนอิม” ไม่เหมือนนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นความเชื่อและความศรัทธา ที่มีต่อเจ้าแม่กวนอิมและพุทธศาสนา เช่นเดียวกับที่มุสลิมศรัทธาในเรื่องที่ท่านเชื่อ นี่จึงเป็นเรื่องของความเปราะบางทางสังคม ที่อาจจะถูกนำไปขยาย ให้เข้าใจผิดเกิดขึ้น

วัดกับมัสยิดต้องอยู่ใกล้กันได้ เสียงพระตีระฆังเพื่อการลงโบสถ์กับเสียงโต๊ะอิหม่ามตีกลอง และเสียงอาซาน ที่เกิดขึ้นในชุมชน จะต้องเป็นเสียงแห่งความดีงามของศาสนา ไม่ใช่เสียงรบกวน


การสร้างมัสยิดในประเทศไทยจะสร้างพื้นที่ไหนก็ได้ จะต้องไม่มีการต่อต้าน เพียงเพราะอ้างว่า มีคนน้อยนิดที่นับถือศาสนาอิสลาม นี่ต่างหากคือ ”พหุวัฒนธรรม” และ ”สันติวิธี”

จากเรื่องของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีมาสู่เรื่องขององค์เจ้าแม่กวนอิม ที่สงขลา คือ”บริบท”ของ ”ไฟใต้” อีกหนึ่งกอง ที่มี ”เงื่อนไข” ที่มาจากความไม่เข้าใจ และมีเรื่องแอบแฝง และหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของกฎหมาย และเป็นเรื่องของ ”กฎหมู่” ที่มาจากกลุ่มคนหมู่หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องของ ”สงครามศาสนา” ในวันข้างหน้าก็เป็นไปได้

หน่วยงานของรัฐ ที่ควรจะเข้ามาเพื่อคลี่คลายและสลายความขัดแย้ง ในทั้ง 2 กรณีนี้อยู่ตรงไหนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยงานฝ่ายปกครอง หน่วยงานด้านศาสนา มีแนวคิดและแนวทางอย่างไร

หรือจะปล่อยให้เกิดการ ”เผชิญหน้า” กันก่อน แล้วค่อยมองเห็นปัญหา หรือต้องรอให้กลุ่มที่อดทนแบบสุดๆ จนหมดความอดทนก่อน และออกมาเคลื่อนไหว จึงจะรีบออกมาแบบ ”ไฟลนก้น”

วันนี้ ประเทศไทย สังคมไทย มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น หากในอนาคต เกิดความขัดแย้งกันในทุกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา อาจจะมีการต่อต้านกันเกิดขึ้น ทำไมเราจะต้องรอให้ถึง "จุดแตกหัก” ก่อนแล้วจึงค่อยพูดจากัน

ทำไมไม่ช่วยกัน ”ดับไฟ” เสียแต่วันที่กองไฟเพิ่งถูกจุด จะไม่ดีกว่าหรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]