ต่อยอด "รอมฎอนสันติ" โต๊ะเจรจาดับไฟใต้เตรียมจัดเวทีประชาชน





ชายแดนใต้: โต๊ะเจรจาสันติสุขชายแดนใต้ "ไทย-บีอาร์เอ็น" เห็นพ้องต่อยอดความสำเร็จ "รอมฎอนสันติ" ลดความรุนแรงชายแดนภาคใต้ในระยะยาวอย่างเป็นระบบ-ยั่งยืน เตรียมพร้อมริเริ่มจัดเวทีหารือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้าง

2 สิงหาคม 2565 - ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เวลา 18.00 น. พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะร่วมกันแถลงผลการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบเต็มคณะ ครั้งที่ 5 กับคณะผู้แทน BRN ที่นำโดยอุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน โดยมีนายตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ จากมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน ระหว่าง วันที่ 1-2 สิงหาคม 2565



พล.อ.วัลลภเปิดเผยว่า จากประชุมตลอด 2 วันเต็ม วันแรกคณะพูดคุยทั้งฝ่ายไทยและ BRN ได้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติตามความริเริ่ม "รอมฎอนสันติ" ระหว่างวันที่ 3 เมษายน-14 พฤษภาคม 2565 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติร่วมกัน โดยได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การริเริ่มรอมฎอนสันติสุขเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในห้วงต่อไป

"ความคืบหน้าที่สำคัญของการพบปะพูดคุยครั้งนี้ คือทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะต่อยอดการลดความรุนแรงที่ประสบความสำเร็จอย่างดีจากการริเริ่มรอมฎอนสันติสุขในห้วงเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมาไปสู่การขยายผลความร่วมมือที่มีความเข้มข้นเป็นระบบและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" พล.อ.วัลลภกล่าว


พล.อ.วัลลภกล่าวว่า ในวันที่ 2 คณะพูดคุยได้ยื่นข้อเสนอการลดความรุนแรงร่วมกันชั่วคราว และการริเริ่มจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ให้ BRN ได้พิจารณาการพบปะครั้งนี้ โดยข้อเสนอดังกล่าวได้กำหนดกรอบมาตรการ และกลไกการปฏิบัติร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในรูปแบบที่ครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสอดรับกับข้อเสนอของประชาชนชาวไทยพุทธที่ได้ส่งมายังคณะพูดคุย และแนะนำข้อเสนอดังกล่าวมาพูดคุยกับ BRN ในการพบปะพูดคุยครั้งนี้ด้วย

พล.อ.วัลลภกล่าวว่า ในขณะเดียวกันฝ่าย BRN ได้นำเสนอร่างเอกสารแนวคิดการยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาให้คณะได้พิจารณา



ถึงแม้ร่างเอกสารดังกล่าวข้างต้นจะยังมีข้อแตกต่างเรื่องของถ้อยคำ และรายละเอียดต่างๆ แต่ยังคงสอดคล้องคล้ายคลึงในหลายประการทั้งในแง่ของเป้าประสงค์หลักการกลไกการดำเนินการ เช่น ทั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และ BRN ต่างมุ่งหมายที่จะบรรลุคือการลดความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมทั้งริเริ่มจัดเวทีหารือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้าง

พล.อ.วัลลภกล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีกลไกการจัดการสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ติดตามและรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำและเป็นกลาง ในขั้นต่อไปคณะพูดคุย และ BRN จะได้นัดเพื่อพูดคุยกันอีกเร็วๆนี้ เพื่อหารือถึงร่างเอกสารต่างๆ และร่วมกันพิจารณาในรายละเอียด โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะบรรลุข้อตกลง และเริ่มขั้นตอนการปฏิบัติจริงได้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวคณะพูดคุย และ BRN ยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของผู้อำนวยความสะดวกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]