"ไพร พัฒโน" กับเส้นทางกลับสู่สภาหินอ่อน ในสีเสื้อ 'ภูมิใจไทย' ณ เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.สงขลา






รายงานพิเศษ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก

ถ้าเอ่ยชื่อของ "ไพร พัฒโน" ในแวดวงการเมืองระดับประเทศ น้อยคนที่จะไม่รู้จัก เพราะ ”ไพร” เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋า ที่นอกจากตำแหน่งสุดท้ายในแวดวงการเมืองคือ 'นายกเทศบาลนครหาดใหญ่' แล้ว ก่อนหน้านั้น ”ไพร”คือ อดีต ส.ส.หลายสมัยของ จ.สงขลา ในสีเสื้อของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นขวัญใจของคนในภาคใต้ในอดีต

หลังไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันแชมป์การเป็น ”นายกเทศบาลนครหาดใหญ่” สมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2564 ”ไพร” ก็ได้เบนเข็มกลับมาสู่ถนนสายการเมืองระดับชาติอีกครั้ง โดยประกาศตัวให้ประชาชนได้รับรู้พร้อมทั้งมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาเป็นระยะๆ ถึงพรรคการเมืองที่จะไป ”สังกัด” ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566

และพรรคการเมืองสุดท้าย ที่ ”ไพร” เลือก โดยพรรคได้ประกาศตัวต่อประชาชนในจังหวัดสงขลาไปแล้ว เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาคือ พรรคภูมิใจไทย และเขตเลือกตั้งที่ ”ไพร” ตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้ายในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าคือ เขตเลือกตั้งที่ 3 สงขลา ที่ประกอบด้วย อ.นาหม่อมทั้งอำเภอ และ อ.หาดใหญ่บางส่วน เช่น พื้นที่ เขตบาลเมืองคอหงส์.เทศบาลเมืองคลองแห ต.น้ำน้อย ท่าข้าม และทุ่งใหญ่ เป็นต้น

การที่ ”ไพร” ตัดสินใจที่จะเลือกพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 3 เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ซึ่ง "ไสว พัฒโน” ผู้เป็นบิดา และอดีต ส.ส.หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยเป็น ”ผู้แทน” ของเขตนี้มายาวนาน และ ”ไพร” ก็รับไม้ต่อจาก "ไสว” ลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่ตรงนี้ โดยได้รับการเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จนสุดท้ายเมื่อ ”ไพร” เบนเข็มไปเล่นการเมืองท้องถิ่น ด้วยการเป็น ”นายกเทศบาลนครหาดใหญ่” พื้นที่ตรงนี้จึงตกเป็นของ “วิรัตน์ กัลยาศิริ” อดีต ส.ส.เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ล่วงลับ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย “วิรัตน์” เสียที่นั่งให้แก่ ”พยม พรหมเพชร“ ส.ส.หน้าใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ



ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ”ไพร พัฒโน” ถึงการตัดสินในเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย และเลือกที่จะสมัคร ส.ส.ในพื้นที่เขต 3 แทนที่จะเป็นเขต 2 คือพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ ที่เคยเป็น” นายกเทศมนตรี” มาหลายสมัย ซึ่ง ”ไพร” ให้เหตุผลว่า

เมื่อลาออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เห็นว่า 1.พรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติที่เหมาะกับภาคใต้น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย เพราะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ”ภูมิใจไทย” ได้รับการตอบรับจากคนภาคใต้ ด้วยการมี ส.ส.ในหลายๆ พื้นที่จำนวน 8 คน 2.พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่มีปัญหาความขัดแย้งภายในน้อยที่สุด

3.ผู้ที่มีตำแหน่งในพรรคภูมิใจไทยเป็นคนภาคใต้ เช่น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นคน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางนาที รัชกิจประการ เป็นคนพัทลุง และไม่มีข้อครหาจากสังคม ในการเป็นผู้มีอิทธิพลและธุรกิจที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย

และ 4.เป็นพรรคการเมืองที่มีผลงานในภาคใต้ ทั้งในการเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวและคมนาคม ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และนโยบายในการพัฒนาภาคใต้




ส่วนที่เลือกที่จะไปต่อสู้กับผู้สมัครของพรรคต่างๆ ในเขตเลือกตั้งที่ 3 เพราะเขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นถิ่นเก่า ที่ตระกูล ”พัฒโน” แจ้งเกิดทางการเมือง ตั้งแต่สมัยของคุณพ่อ "นายไสว พัฒโน" และตนเองก็ได้รับการเลือกตั้งจากพี่น้องประชาชนในเขตนี้มาจนมาเล่นการเมืองท้องถิ่น แต่ก็ยังมีความผูกพันกับคนในพื้นที่ ซึ่งในอดีตที่คุณพ่อเป็น ส.ส.ในเขตนี้ ได้นำความเจริญมาสู่พื้นที่เขต 3 เป็นอย่างมาก

ที่สำคัญก่อนที่จะตัดสินใจมีการ ”ซาวเสียง” โดยลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนในเขตนี้ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนให้ตนเองกลับมาเป็น “ผู้แทน” ในเขต 3 อีกครั้ง จึงทำให้ตัดสินใจ ที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งในสมัยหน้าอย่างไม่ลังเล

สำหรับคู่ต่อสู้ของ ”ไพร” ในเขตเลือกตั้งที่ 3 ที่เป็น ”ตัวยืน” ในฐานะของ ส.ส.ปัจจุบันคือ ”พยม พรหมเพชร”ผู้มีฉายาว่าเป็น ”ส.ส.พันศพ” แห่งพรรคพลังประชารัฐ ส่วนคู่ต่อสู้หน้าใหม่อีกคนได้แก่ “สมยศ พลายด้วย"” หรือเถ้าแก่ถึก ผู้มีฉายาว่า ”ถึก ป้ายใหญ่” ผู้รับเหมาจาก อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ซึ่งลงพื้นที่ทำงานการเมืองมาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2565 ในสีเสื้อประชาธิปัตย์ ซึ่ง ”ไพร” กล่าวว่า พร้อมที่จะสู้กับทุกคน ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้สมัครที่เป็นคนพื้นที่ ส่วนคนอื่นๆ มาจากอำเภออื่นๆ ของ จ.สงขลา และตนเชื่อมั่นว่า ”สู้ได้” กับคู่แข่งทุกคนในเขตนี้

นั่นคือความคิดและความเชื่อของ ”ไพร พัฒโน” นักการเมืองผู้คร่ำหวอดกับเรื่องของการเมืองมาทั้งชีวิต ส่วนจะเดินทางเข้าสู่ ”สภาหินอ่อน” ได้อีกครั้งหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ความคิดและความเชื่อของ ”ไพร” แต่อยู่ที่ประชาชนเขต 3 จ.สงขลาว่า จะคิดและจะเชื่ออย่างไร เพราะผู้ที่เป็น ”ตุลาการ” ในการ ”พิพากษา” ทางการเมืองของ ”นักการเมือง” คือ ”ประชาชน” ที่ไม่ใช่ตัวผู้สมัครและพรรคการเมืองที่สังกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]