หมดยุคส่ง "เสาไฟฟ้า" ลงเลือกตั้งภาคใต้ ถึงเวลา "ประชาธิปัตย์" ปรับกลยุทธรักษาที่มั่นสุดท้าย






บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


ประชาธิปัตย์พร้อมสู่สนามการเลือกตั้ง” เป็นประโยคของหนึ่งในสองของขุนพลประชาธิปัตย์ภาคใต้ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวกับสื่อในส่วนกลาง เมื่อถูกถามถึงความพร้อมของการเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง

ถามว่าทำไมสื่อถึงให้ความสำคัญกับความพร้อมของ ”พรรคประชาธิปัตย์” ในสนามการเลือกตั้งที่ภาคใต้ เพราะสำหรับ ”ประชาธิปัตย์” ภาคใต้คือที่มั่น ที่สุดท้าย ที่จะต้องรักษาด้วยชีวิต กับการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ส่วนสนามเลือกตั้งในภาคอื่นๆ และแม้แต่ กทม. ยังยากที่ประชาธิปัตย์จะกลับไป ”ปักธง” เพื่อได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำเหมือนในอดีต

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยปรับ ”กระบวนทัพ” ด้วยการเอา ”คนรุ่นใหม่” ลงสนามเลือกตั้งแทนนักการเมืองรุ่นเก่า ที่ลาออกเพื่อย้ายไปอยู่ยังพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองจำนวนมาก ที่หอบกระสุน "เงิน” เข้ามาเพื่อแย่งชิงที่นั่งของ ส.ส.ในภาคใต้ เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคสร้างอนาคตไทย ที่พร้อมใจกันยาตราทัพเข้ามาเพื่อทำศึกสงครามในภาคใต้ เพราะเชื่อว่ามีเปอร์เซ็นต์ของชัยชนะที่สูงกว่าการไปทำศึกสงครามกับพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

สนามในภาคใต้สำหรับ ”ประชาธิปัตย์” จึงเป็น ”มวยรุม” ที่มีพรรคการเมืองที่มีชื่อชั้นอย่างน้อย 4 พรรคมะรุมมะตุ้มจนกลายเป็น ”มวยหมู่” ที่สร้างความเหนื่อยหน่ายให้แก่ ”ประชาธิปัตย์” มากกว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องเสียที่นั่งให้ “พลังประชารัฐ”13 ที่นั่ง ”ภูมิใจไทย” 8 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ อีก 7 ที่นั่ง



แต่...เชื่อว่า หลังการพ่ายแพ้อย่างยับเยินจากครั้งที่แล้วในภาคใต้ แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้ถอดบทเรียนของความพ่ายแพ้ที่ได้รับ และมีการแก้เกม มีการวางแผนในการต่อสู้ ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้อย่างรอบคอบ เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

เลือดเก่าไหลออก” เป็นเรื่องปกติของการเมือง หลายคนออกไปกลายเป็นการขจัดจุดอ่อนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้งต้องมีการเทรนบรรดา "เลือดใหม่” อย่างไรให้เข้าตาประชาชน เพราะจุดอ่อนของว่าที่ผู้สมัคร ที่สำคัญที่สุดคือ ขาดประสบการณ์ทางการเมือง เขี้ยวและคมยังไม่ลากดิน อาจเสียเชิงและเสียที่ให้คู่ต่อสู้ได้ง่าย

จุดอ่อนของ ”ประชาธิปัตย์” ในยุคที่ ”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้าพรรคคือ งานด้านสื่อสารกับสังคมของพรรคในภาพรวม ที่ขาดความโดดเด่น

ทั้งที่ยึดกุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ”ปากท้อง” ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ที่มีผลงานในเรื่องการประกันราคาพืชผลและในเรื่องของการค้า-การขาย แต่การสื่อสารต่อสังคมของ ”จุรินทร์” ยังขาดความเฉียบคม แม้แต่เรื่องของปาล์มน้ำมัน ที่สร้างความร่ำรวยให้เกษตรกรในภาคใต้ ซึ่งควรจะเป็นโบว์แดงของพรรค ก็ยังไม่มีการหยิบยกให้เป็นประโยชน์เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลงานของพรรค

การสื่อสารกับสังคมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องของต่างคนต่างทำ เป็นเรื่องผลงานของแต่ละบุคคล เช่นการสื่อสารกับสังคมของ ”นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค ที่โดดเด่นและทำให้เห็นการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน หรืออย่าง “อลงกรณ์ พลบุตร” ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผลงานค่อนข้างดี แต่ก็ไม่ใช่เป็นการสื่อสารที่เป็นภาพรวมของพรรคโดยตรง

ที่สำคัญ วันนี้ การเมืองเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว แต่ภาพรวมของการสื่อสารกับสังคมของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ทุกอย่าง ทุกเรื่อง ที่ใช้ในการหาเสียง เป็นนโยบายของผู้สมัครมากกว่าที่จะเป็นของพรรค

การตอบโต้ต่อการโจมตีหรือข้อกล่าวหาจากพรรคคู่แข่งของ ”ประชาธิปัตย์” ขาดการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล ที่คนฟังๆ แล้วเชื่อ ซึ่งดูๆ แล้ว น่าจะเชื่อว่า ”ประชาธิปัตย์” ขาดทีมงานด้านประชาสัมพันธ์ หรืองานการสื่อสารกับสังคมเหมือนอย่างในอดีต และเห็นชัดว่า พรรคให้ความสำคัญในตัวบุคคลในการนำพรรค



หลายพื้นที่ของสนามเลือกตั้งในภาคใต้ ที่ ”ประชาธิปัตย์” ส่งผู้ที่น่าจะทราบผลล่วงหน้าว่า ”แพ้” แต่ก็ยังส่งลงสมัคร เพราะเห็นแก่ ”ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค" อย่างพื้นที่ จ.สตูลหรือระนอง เป็นต้น หรือการทำโพลล์ และไม่ยอมรับผลโพลล์ กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งในพรรค เช่นที่ จ.ตรังและพังงา เป็นต้น

วันนี้ “ขุนพลประชาธิปัตย์” ต้องยอมรับความจริงว่า 3 ปีกว่าของการเป็น ”พรรคร่วม” แม้ว่า ”ประชาธิปัตย์” จะ ”กระเตื้องขึ้น" กว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าเป็น "ยุทธการล้มเสาไฟฟ้า" แต่สถานการณ์ของ "ประชาธิปัตย์” ก็ไม่ดีมากนัก สิ่งสำคัญคือต้องมียุทธศาสตร์ในการหาเสียง ที่ชัดเจนและตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ได้

ในอดีตที่มีการพูดกันว่า ”ประชาธิปัตย์” ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ได้รับการเลือกเข้ามา เป็นเพราะในอดีตฝ่ายตรงข้ามหรือพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมือง เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้นก็ส่งผู้สมัครที่เป็น ”ไม้ผุ” ลงแข่งขัน จึงทำให้ชาวบ้านต้องเลือก ”เสาไฟฟ้า” เป็นผู้แทน เพราะอย่างไรเสีย ”เสาไฟฟ้า” ก็มั่นคงแข็งแรงกว่าผู้สมัครที่เป็น ”ไม้ผุ”

แต่วันนี้ด้วยการเข้าถึงข้อมูลจากการสื่อสารของประชาชน ที่อยู่ในยุค 5G ที่ถึงคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและพรรคคู่แข่งก็เลือกผู้สมัครที่มีคุณภาพลงแข่งขัน รวมทั้งการทำกิจกรรมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามพัฒนาการของสังคม วิธีการและกลยุทธเก่าๆ ที่เคยใช้ได้ผลในยุค 2G-3G ที่ ”ประชาธิปัตย์” เคยใช้ได้ผลในภาคใต้ จึงใช้ไม่ได้อีกแล้ว

แต่...ไม่ว่าอย่างไร สำหรับสนามเลือกตั้งของภาคใต้ ”ประชาธิปัตย์" ยังได้เปรียบต่อทุกพรรคการเมือง เพราะยังมีสมาชิกพรรคที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรคที่ยังเป็นจุดแข็งของพรรค และแม้แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีจุดแข็งที่ใช้ประโยชน์เพื่อให้มี ส.ส.ได้ในทุกจังหวัด ถ้า ”ประชาธิปัตย์” รู้จักใช้คนให้เป็น



เวทีในการเลือกตั้งอยู่ไม่ไกล เพราะ”บิ๊กตู่” ได้กลับมาเพื่อไปต่อ หลังประชุมเอเปก จะมีการ ”ยุบสภา” และก่อนยุบสภาต้องมีมหกรรมที่เรียกว่า ”ซื้อเสียงล่วงหน้า” เพื่อความได้เปรียบของพรรคคู่แข่งของ "ประชาธิปัตย์”

ดังนั้น “ประชาธิปัตย์" ต้องมีความพร้อมจริงๆ เพื่อรับศึกของการรุมกินโต๊ะจากพรรคการเมืองที่มีชื่อชั้น ทั้ง 4 พรรค โดยเฉพาะกับ ”คนกันเอง” ที่เป็น ”เลือดเก่า” ของ ”ประชาธิปัตย์” ที่ต้องหันปากกระบอกปืนเข้าใส่กับแบบซึ่งหน้า การศึกครั้งนี้ของ ”ประชาธิปัตย์” จะหนักกว่าทุกครั้ง

ในฐานะที่เห็น ”ย่างก้าว” ของพรรค ”แม่ธรณีบีบมวยผม” มาตั้งแต่ยุคสมัยของ ”คล้าย ละอองมณี” ผ่านถึง ”สงบ ทิพย์มณี" "อำนวย สุวรรณคีรี" จนถึงยุคของ "นิพนธ์ บุญญามณี" และกำลัง ”ผลัดใบ” สู่ผู้สมัครใหม่ๆ ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังเชื่อมั่นว่า “ประชาธิปัตย์” ยังเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว ที่อาจจะมากด้วย ”เหลี่ยมคู” และ”ชั้นเชิง” คนพรรคการเมืองด้วยกัน ”ขยาด”

แต่..."ประชาธิปัตย์” ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่มีหลักการกว่าหลายๆ พรรค และไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็น ”นั่งร้าน” ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็น ”นายกรัฐมนตรี”

ถ้าขุนพลของพรรคสู้เต็มที่ เชื่อว่า “ประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส.มากกว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]