คิดจะดับ "ไฟใต้" ต้องไม่ปล่อย "กำลังพลหัวกลวง" เข้ามาควบคุม






บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก



ความรุนแรงเที่ยวล่าสุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากฝีมือ “บีอาร์เอ็น” คือลอบวางระเบิดหน้าโรงพยาบาลไม้แก่น จ.ปัตตานี ถือเป็นพื้นที่ในเขตตัวอำเภอที่ไม่ใช่หมู่บ้านหรือตำบล เป้าเหมายอยู่ที่รถยนต์สายตรวจ สภ.ไม้แก่น ตำรวจดับ 1 บาดเจ็บ 4 ซึ่งชี้ชัดอย่าว่าแต่ประชาชนเลย แม้แต่ตำรวจและทหารก็ยังไม่ปลอดภัย

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ยังเป็นการข่มขู่ประชาชนในพื้นที่ให้นิ่งเงียบกลายเป็น “แนวร่วมจำยอม” ของบีอาร์เอ็นไปโดยปริยาย เพราะภาพตำรวจ และทหารที่สูญเสียคือคำตอบที่ดีที่สุดว่า ผ่านมาแล้ว 18 ปีกับไฟใต้ระลอกใหม่ เจ้าหน้าที่ระดับกองกำลังหลักก็ยังเอาตัวไม่รอด แล้วอย่างนี้จะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อย่างไร

ดังนั้น อย่าหวังเลยว่า “กองกำลังท้องถิ่น” อย่างอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชรบ.) และชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) จะให้การคุ้มครอง รวมถึงรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไว้ได้



เชื่อเถอะวันหนึ่งเมื่อ “กองกำลังติดอาวุธ” ของบีอาร์เอ็นในพื้นที่มีความพร้อม และเวลาเหมาะสมกับการประกาศดีเดย์ตามแผนการของ “องค์กรชาติตะวันตก” ที่วันนี้ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้จัดการดับไฟใต้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำไปสู่เกิดเหตุการณ์ปลดอาวุธกองกำลังท้องถิ่นให้เห็นอีกครั้ง

นั่นจึงแทบไม่มีความหวังที่จะเห็นความสงบเกิดขึ้นอย่างที่มีการโฆษณาชวนเชื่อไว้จากหน่วยงานความมั่นคง และคำพูดที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดับไฟใต้บอกกับสื่อไว้ว่า ไฟใต้จะจบลงในปี 2570 จึงล้วนเป็นเรื่องเหลวไหลในแบบที่ไม่มีเหตุผลให้เชื่อถือได้

การเปลี่ยนตัว “แม่ทัพนายกอง” ให้เข้ามารับไม้ดับไฟใต้ต่อในช่วงเวลานี้ ถือเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนตามวงรอบปกติที่เมื่อครบ 2 ปีก็ต้องเปลี่ยนคนใหม่ ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง ไม่ได้ให้ความหวังว่าประชาชนจะได้เห็นความสงบสุขกลับคืนมา

การปรับเปลี่ยนแม่ทัพนายกองแต่ละครั้งจึงเป็นได้แค่การจัดสรรคนมา “สืบทอดอำนาจ” โดยมีอดีตแม่ทัพ 2-3 คนที่ทำตัวเป็น “ไอ้โม่ง” บงการอยู่เบื้องหลังเพื่อ “รักษาผลประโยชน์” ดังนั้น ไม่ว่า “นายพล” คนไหนจะมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ไฟใต้ก็ยังย่ำอยู่กับที่เช่นเดิม


ณ เวลานี้ จึงยังไม่ควรคาดหวังใดๆ ถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงบนแผ่นดินปลายด้ามขวานว่าจะดีขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบไม่มีจุดจบ

เพียงแต่ต้องติดตามกันใกล้ชิดว่าความรุนแรงจะหนักกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่แม่ทัพและนายกองคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เชื่อว่ายังจะต้องเดินหน้า “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” หรือตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นที่กำลังเขม็งเกลียวกันต่อไป

ที่ชัดเจนคือ แกนนำเจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ออกมาสื่อสารกับชาวไทยมลายูและสังคมมุสลิมโลกว่า การเจรจาที่ไม่คืบหน้าเพราะฝ่ายรัฐไทยไม่จริงใจ ไม่ยอมลงนามข้อตกลงร่วม ซึ่งน่าจะวิเคราะห์ได้ว่าการส่งสัญญาณตรงไปตรงมาว่า ถ้ากระบวนการเจรจาครั้งต่อไปยังเดินหน้าไม่ได้อีก บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะล้มโต๊ะพูดคุยสันติสุข



บีอาร์เอ็นรู้ดีไม่ว่า จะอย่างไรรัฐไทยไม่มีทางลงนามเอกสารข้อตกลงร่วม ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเดิมเมื่อครั้งนายฮาซัน ตอยิบ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายบีอาร์เอ็น เสนอไว้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือข้อตกลงใหม่ที่มี นายหิพนี มะเระ หุ่นเชิดรัฐบาลมาเลเซียให้มาเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายบีอาร์เอ็นคนใหม่ ที่เสนอต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งนี้ บีอาร์เอ็นและมาเลเซียยังพยายามรักษาโต๊ะเจรจาเอาไว้ ทั้งที่รู้ไต๋รัฐไทยว่า ไม่มีทางยอมลงนามใดๆ เป็นเพราะคิดว่ายังเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ดี โดยเฉพาะการสื่อสารกับชาวไทยมลายู ที่สำคัญเอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือรุกคืบทางการเมืองในเวทีโลก ทั้งองการสหประชาชาติ (UN) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นต้น

ที่สำคัญฝ่ายความมั่นคงรัฐไทยก็อ่านเกมนี้ออก แถมยังรู้ว่าสุดท้ายแล้วบีอาร์เอ็นกับมาเลเซียต้องการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” ขึ้นที่ชายแดนใต้ไทย หรือให้เป็นไปในแบบเดียวกับจังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ส่วนหลังจากนั้นจะขยับเป็นประเทศใหม่ได้หรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งก็มีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวกำหนดอีกมากมาย

จึงขอตั้งคำถามต่อหน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาลว่า คิดอย่างไรกับแผนปลุกปั้นชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ถ้าเห็นด้วยก็ควรให้คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเดินหน้าเจรจากับบีอาร์เอ็นให้เป็นผลโดยเร็ว ซึ่งก็ขัดแย้งกับผลโพลที่เคยมีการทำไว้ว่า คนชายแดนใต้เห็นด้วยกับเขตปกครองตนเองไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำ


แต่หากเห็นว่ามาตรการดับไฟใต้ยังมีช่องทางอื่นๆ อีกมากมายที่ทำได้ รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงก็ควรเข้าร่วมเจรจาอย่างรอบคอบ หรือไม่ก็ถอนตัวออกมาจากโต๊ะเจรจาเสียเลยดีไหม ก่อนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นกับมาเลเซียจะชิงสร้างภาพล้มโต๊ะเจรจา แล้วชี้นิ้วมาที่รัฐไทยว่าไม่เคยมีความไม่จริงใจอย่างที่ถูกโบ้ยให้มาตลอด

ต้องย้ำว่าที่ผ่านมา นอกจากข้ออ้างว่าเจรจากับรัฐไทยแทบไม่ได้สาระอะไรแล้ว ยังปล่อยให้บีอาร์เอ็นดึงองค์กรอย่าง “เจนีวาคอลล์” กับ “คณะกรรมการการชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” เข้าแทรกแซงด้วย ถ้ารัฐบาลยังจะเดินหน้าต่อก็มีแต่จะเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วทำไปเพื่ออะไร หรือเพื่องบประมาณตามที่เสียงนินทากันหนาหู



กลับมาทบทวนมาตรการดับไฟใต้กันใหม่ดีไหม ว่าที่ผ่านๆ มาล้มเหลวเพราะอะไร มีปัญหาภายในและภายนอกอย่างไร โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่ามีการ “ค้ากำไรจากสงคราม” และ “สืบทอดผลประโยชน์” แบบรุ่นสู่รุ่น หรือที่วันนี้ถูกเยาะว่าการวางแผนดับไฟใต้ต้องใช้ “หลักสูตรชาติตะวันตก” เท่านั้นจึงจะดับไฟใต้ได้ผล

แท้จริงแล้ว “ไอซีอาร์ซี” กับ “เจนีวาคอลล์” ไม่ใช่ยาวิเศษ ไฟใต้จะมอบดับได้ก็ด้วยความรู้ ความสามารถ ความจริงใจของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง

ที่สำคัญต้องไม่ปล่อยให้ “กำลังพลหัวกลวง” เข้ามามีบทบาทควบคุม ควรต้องใช้เปิดโอกาสให้คนคิดได้ ทำเป็น ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]