คิดดีแล้วหรือ.. ที่จะชู "ลุงตู่" ให้เป็นนายกฯ อีกหน






บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


นับเป็นวิบากกรรมของ "พรรคประชาธิปัตย์" ที่มาก่อนการเลือกตั้งในปี 2566 อย่างแท้จริง กับกรณีของการลาออกของสมาชิกพรรค ของ ส.ส.และ อดีต สส เพื่อไปร่วมงานการเมืองกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งพรรคการเมือง ที่กลายเป็นหนามยอกอกของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนี้ ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคพลังประชารัฐ

หากแต่เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีหัวหน้าพรรคเป็น “อดีต” คนของพรรคประชาธิปัตย์อย่าง ”พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค“ ซึ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ”ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

และเป็นผู้ตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็น ”นั่งร้าน” ในการส่ง ”ลุงตู่” ขึ้นสู่นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึงในปี 2566

และนักการเมือง ที่พรรครวมไทยสร้างชาติพยายาม ”กวาดต้อน” ให้เข้าสังกัดพรรค เพื่อลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.และ อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้


และที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียอาการมากที่สุด น่าจะเป็นการที่ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อไปเป็นที่ปรึกษาของ ”ลุงตู่” และเชื่อว่าจะเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งบุตรสาวไปเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติก่อนแล้ว ส่วนจะมีการสมัคร ส.ส.เขตไหน ยังไม่มีการเคาะให้เห็น

เรื่องที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ คล้ายกับการเลือกตั้งในสมัยที่แล้ว ที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ “ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ และใช้พลังดูด ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์สายใต้ เพื่อไปสมัคร ส.ส.แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ จนเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้จำนวน ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์เหลือเพียง 22 คน

และพรรคใหม่ของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สอบตกเป็นส่วนใหญ่ เพราะแย่งคะแนนกันเอง เนื่องจากผู้สมัครมีฐานคะแนนเดียวกัน

แต่...การเกิดขึ้นของ ”รวมไทยสร้างชาติ” ไม่เหมือนกับปรากฏการณ์ของ ”สุเทพ เทือกสุบรรณ” เพราะ ”รวมไทยสร้างชาติ” มีระบบของการดึงดูด ส.ส.และ อดีต ส.ส.ในภาคใต้ ที่เป็นระบบ

มีการกวาดต้อนผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน ที่เรียกว่า ”บ้านใหญ่” อย่างตระกูล "จุลใส” ใน จ.ชุมพร ตระกูล "จ่าแก้ว” ใน จ.สุราษฎร์ธานี และตระกูล "ธรรมเพชร” ใน จ.พัทลุง


และยังมี อดีต ส.ส.ที่เรียกว่า”รุ่นใหญ่” อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งใน จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง และอื่นๆ ที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเสริมทัพให้แก่ ”รวมไทยสร้างชาติ” ในครั้งนี้ ที่สำคัญมีกลุ่มทุนของประเทศเป็นผู้ให้การสนับสนุน เพื่อให้ ”บิ๊กตู่” กลับมาอีกครั้ง

ที่สำคัญ มีข่าวว่า ยังจะมี ส.ส.และ อดีต ส.ส. รวมทั้งอาจจะมีสมาชิกรุ่นใหญ่ แบบเดียวกับ ”ดร.ไตรรงค์” ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปอยู่กับ ”รวมไทยสร้างชาติ” อีกระลอกหนึ่ง หลังจากมีการยุบสภา หรือก่อนหมดวาระของรัฐบาล

ประเด็นนี้เชื่อว่า ทั้ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค “เฉลิมชัย ศรีอ่อน“ เลขาธิการพรรค ”นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้ง รวมทั้ง ”เดชอิศม์ ขาวทอง“ รองหัวหน้าพรรคที่ดูแลภาคใต้ และ ”แทน เดชเดโช” รองเลขาธิการพรรค ต้อง ”คิดหนัก” ในการแก้เกมและการสรรหาผู้สมัครมาแทน ส.ส. ที่มีการย้ายพรรคในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ ”รวมไทยสร้างชาติ” ทางหนึ่งเป็นการ ”ฆ่า” ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ในภาคใต้ให้หมดที่ยืนในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ได้รับการเลือกเข้ามาทั้งหมด 14 คนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ได้รับการเลือกจากประชาชนเพราะบารมีของ ”ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และบวกกับ 5 ปี ที่ ”ลุงตู่” เป็นนายรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจจากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ขาดการ ”ดูดำดีดู” ประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน เพราะเชื่อว่า เลือกตั้งใหม่ ”คนใต้” ก็ยัง ”ไม่ทิ้ง” ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการคิดผิด จนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรม ส่งผลให้ ”เสาไฟฟ้า" ล้มเป็นจำนวนมากในภาคใต้



ดังนั้น สมรภูมิในการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคการเมืองที่กลายเป็นคู่ต่อสู้ของ ”ประชาธิปัตย์” จึงกลายเป็น ”รวมไทยสร้างชาติ” ที่ใช้พลังดูด ส.ส. และอดีต ส.ส. ไปจากพรรคประชาธิปัตย์

และอีกพรรคคือ "ภูมิใจไทย" ซึ่งขณะนี้กลายเป็นพรรคคู่กัดของ ”ประชาธิปัตย์” จากกรณีการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอากัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเรียกว่า พรรคประชาธิปัตย์งานเข้าและนับเป็นวิบากกรรม ในยามที่พรรคต้องการพลังสามัคคีในการสร้างปึกแผ่น ก่อนการเข้าสู่สงครามการเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ วันนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติมีความมั่นใจแค่ไหนในการที่จะนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นจุดขายหรือมา ”ขึ้นเขียง”

เพราะ 1.การบริหารประเทศที่ผ่านมา 2 สมัย ตั้งแต่สมัยแรก ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาล ”ยิ่งลักษณ์” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจล้นฟ้า ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แม้แต่ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็ประสบกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหา

ประเด็นที่ 2 เรื่องการปรามปรามทุจริตคอรัปชั่นก็ทำไม่สำเร็จ เพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพิ่มมากกว่าเดิม การปฏิรูปประเทศล้มเหลว การสร้างความปรองดองเป็นเพียงวาทกรรม

เรื่องเศรษฐกิจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน จนเป็นการสร้างความร่ำรวยและความยิ่งใหญ่ให้แก่คนเพียง 20 ตระกูลในกรุงเทพฯ เท่านั้น

และประเด็นที่ 3 สมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็น “นายกรัฐมนตรี“ นอกจากการลด แจก แถม และการให้แบบ ”คนละครึ่ง” แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่โดดเด่น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศแย่กว่าเดิม ปัญหาปากท้องของประชาชนหนักกว่าเดิม ชาวสวนยาง ชาวประมง ในภาคใต้ ทุกข์หนักกว่าเดิม



ที่สำคัญเป็นยุคที่ ”ยาเสพติด” ระบาดหนักที่สุด และมีราคาถูกที่สุด ประเทศไทยเข้าสู่ยุค "ของแพงทั้งแผ่นดิน” และ ”จนทั้งแผ่นดิน” ดังนั้นถ้าคนใต้เลือก ส.ส.ของ ”รวมไทยสร้างชาติ” ก็จะได้ ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กลับมาเป็น ”นายกรัฐมนตรี” อีกครั้ง และการบริหารประเทศก็คงจะไม่ต่างกว่าที่เคยเป็นมา

ที่สำคัญกว่านั้น หากได้ "ลุงตู่" กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็จะบริหารประเทศได้เพียง 2 ปี ก็ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าคนใต้ หรือคนทั้งประเทศเลือก ส.ส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ประเทศไทยก็จะได้ ”รัฐบาลครึ่งเทอม

ถามว่า วันนี้ คนไทยทั้งประเทศจะเอากันอย่างนั้นหรือ และพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นอย่างไรกับรัฐบาล 2 ปี หรือนายกครึ่งเทอมของประเทศไทย

หนักนะหนักแน่ สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยหน้า แต่ก็ไม่ควรที่ตีโพยตีพายกับการที่เลือดและหนองของพรรคไหลออกในครั้งนี้

เห็นด้วยกับ ”นิพนธ์ บุญญามณี” ที่บออกว่า การย้ายเข้า-ย้ายออกของนักการเมืองเป็นเรื่องปกติ การรักษาพรรคเอาไว้เป็นเรื่องสำคัญกว่า

การที่คนเก่าออกไป นับเป็นการให้โอกาสคนรุ่นใหม่บนถนนการเมือง

หน้าที่ของผู้บริหารพรรค คือตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ยังจะมี ส.ส.และสมาชิกพรรคอีกกี่มากน้อย ที่จะทิ้งพรรคไป เพื่อที่จะหาคนใหม่ ที่รอโอกาสอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นของดี ที่ประชาชนต้องการมากกว่าของเก่าก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น



ที่สำคัญ ประชาชน ทั้งที่เป็นคนใต้และคนไทยทั้งประเทศควรจะสำเหนียก คือ พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น ”พรรคเฉพาะกิจ” เพื่อเป็น ”นั่งร้าน” ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ใช้ขึ้นไปเป็น ”นายกรัฐมนตรี” ล้วนแต่มีจุดจบ ที่ไม่สวยงามแม้แม่พรรคเดียว

แล้วเมื่อเป็นอย่างนี้ทำไม จึงต้องหลงใหลได้ปลื้มกับการเกิดขึ้นของ ”พรรคเฉพาะกิจ” เหล่านี้ด้วยเล่า

และที่สำคัญกว่าคือ พรรคประชาธิปัตย์ต้องหาจุดบอดของพรรคและของผู้บริหารให้ได้ว่า เหตุใด สมาชิกพรรค หรือ ส.ส. อดีต ส.ส. และบ้านใหญ่ ที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน จึงละทิ้งพรรคไปแบบไม่แยแส

ทุกอย่างต้องมีสาเหตุ ที่มาและที่ไปทั้งสิ้น หาเหตุให้พบ แก้ให้ทัน มียุทธศาสตร์ ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และมีกลยุทธ์ ที่นำไปสู่ชัยชนะ คือเรื่องสำคัญที่สุด สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ในยามที่ไม้ไผ่ ที่เป็น ”ไผ่กอเดียวกัน” กลายเป็น ”ด้ามพร้า” กลับมาฟาดฟันกันแบบตายกันไปข้างหนึ่ง

สุดท้าย การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ ที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ยังเป็นสัจธรรม ที่เชื่อถือได้



ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]