จับตาศึกตีเมืองขึ้นสงครามส่วย หรือภาคใต้คือขุมทรัพย์ที่ต่างเข้ามาแย่งชิง









รายงานพิเศษ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก

กรณีที่ “ชายนอกเครื่องแบบ” เข้าตรวจค้นร้านขายของชำ ที่มีการขายเหล้าและบุหรี่หลบหนีภาษี ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และมีการเรียกร้องเงิน 40,000 บาท ในการไม่แจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย มีการต่อรองกันจนสุดท้ายมีการจ่ายสินบนโดยโอนเงินเข้าบัญชีจำนวน 12,000 บาท และนำเงินสดอีก 5,000 บาทไปใส่ไว้ในรถยนต์ของ ”ชายนอกเครื่องแบบ” จำนวน 4-5 คน

หลังการจ่ายสินบนแล้ว เจ้าของร้านค้า ได้มีการตรวจสอบกับ “กรมสรรพสามิต” และพบว่า “ชายนอกเครื่องแบบ” กลุ่มนี้เป็น ”เจ้าหน้าที่สรรพสามิต” ที่เดินทางมาจากส่วนกลาง และหลังจากเรื่องแดงขึ้น “ชายนอกเครื่องแบบ” กลุ่มนี้ก็มีการข่มขู่จะดำเนินคดีกับเจ้าของร้าน มีการขอให้ลบภาพในโทรศัพท์มือถือ และขอคืนเงิน แต่เจ้าของร้านไม่ยอม มีการกู้ภาพจากกล้องวงจรปิด และนำไปแจ้งความกับตำรวจ สภ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้

และในเวลาที่ไม่ห่างกัน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจากศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้เข้าจับกุมร้านขายบุหรี่หลบหนีภาษีในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ยึดบุหรี่หลบหนีภาษี ซึ่งดีเอสไอแถลงข่าวว่า มีมูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท

ประเด็นที่จะกล่าวถึงคือ กรณีของ ”ชายนอกเครื่องแบบ” ที่เป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิตส่วนกลาง ที่มีปฏิบัติการเข้าตรวจค้นจับกุม และเรียกรับเงินจากผู้ที่ทำผิดกฎหมายเรื่องสินค้าหลบหนีภาษี เกิดขึ้นบ่อย ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัด ที่เป็นข่าวเป็นส่วนน้อย แต่ที่เจ้าหน้าที่ได้เงินเข้ากระเป๋าไปอย่างเหนาะๆ โดยไม่เป็นข่าวมีจำนวนมาก เพราะคนที่ทำผิดยินยอมที่จะจ่าย เพื่อให้จบปัญหา เพราะรู้ว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย และยอมจ่ายเพื่อการทำมาหากินได้ต่อไป

และนี่คือสาเหตุ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางของกรมสรรพสามิตย่ามใจ จึงทำเป็นขบวนการ ทั้งการตรวจค้นและตบทรัพย์ ในหน้างานและเรียกเก็บส่วยแบบรายเดือนจากร้านค้า ที่จำหน่ายเหล้า-บุหรี่หลบหนีภาษี



โดยข้อเท็จจริง กรรมสรรพสามิตมีหน่วยงานในภูมิภาคอยู่แล้ว ในระดับภาคก็มีผู้อำนวยการภาค ในภาคใต้ก็มี ผอ.สรรพสามิตภาค 8 และภาค 9 ในระดับจังหวัดมีสรรพสามิตจังหวัด ในระดับอำเภอก็มีสรรพสามิตอำเภอ และยังมี ผอ.ส่วนปราบปราม มีหัวหน้าสายตรวจ และอื่นๆ อีกมากกมาย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้น จับกุม ผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างเพียงพอ

จึงมีความสงสัยที่อยากถามกรมสรรพสามิตว่า หน่วยงานในภูมิภาคที่มีอยู่ ยังไม่เพียงพอในการป้องกันปราบปรามหรืออย่างไร จึงต้องมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นการสูญเสียงบประมาณ ที่ไม่จำเป็น

และที่สำคัญ ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายจากกรณีที่เป็นข่าว ”ตบทรัพย์” และ ”เรียกรับสินบน” จากพ่อค้าและนายทุน ผู้ทำการค้าเหล้า-บุหรี่หลบหนีภาษี ที่มีอยู่จำนวนมากของภาคใต้

หรือกรมสรรพสามิตไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ที่มีอยู่ในพื้นที่

หรือกรมสรรพสามิตมีนโยบายที่จะให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางแสวงหารายได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเป็นรายได้ของกรมฯ และเป็นรายได้ส่วนตัว จากการตบทรัพย์และการเก็บส่วยรายเดือน

ที่สำคัญ การตรวจค้นจับกุมแบบเลือกปฏิบัติ เช่น ตรวจค้นจับกุมรัานค้าของ “นาย ก.” แต่ละเว้นไม่ตรวจค้นจับกุมร้านค้าของ “นาย ข.” ทั้งที่ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ทำไม่จึงมีการเลือกปฏิบัติหรือร้านที่ไม่ถูกจับกุม มีการเคลียร์เส้นทางด้วยการจ่ายส่วยเป็นรายเดือนให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางแล้ว ส่วนร้านที่ถูกจับกุม เพราะยังไม่ได้ส่งส่วยอย่างนั้นหรือไม่ นี่เป็น คำถาม ไม่ใช่การกล่าวหาแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับ ”กรมศุลกากร” ที่ในภูมิภาคมีหน่วยงานของกรมศุลกากเต็มไปหมด เช่น ศุลการกรภูมิภาคที่ 4 และที่ 5 ในภาคใต้ มีหน่วย ”ทักษิณ 10” ที่ตั้งอยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีด่านศุลกากรในพื้นที่ อำเภอ จังหวัด ที่มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีศุลกากรในจังหวัดที่ติดกับฝั่งทะเล

แต่กรมศุลกากรกลับส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ที่ทำหน้าที่อยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญเป้าหมาย ที่ศุลกากรจากส่วนกลางเข้าตรวจค้นจับกุม ก็เป็นเป้าหมายเดียวกันกับศุลกากรในพื้นที่เข้าตรวจค้นจับกุม



เป็นการสูญเสียบุคลากรแลรายจ่ายโดยใช่เหตุ ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับ ”กรมสรรพสามิต” ที่ชวนให้สงสัยว่า กรมศุลกากรไม่เชื่อเจ้าหน้าที่ในภูมิภาค จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาตรวจสอบหรือไม่ หรือเป็นช่องทางในการตั้งหน่วยงานจากส่วนกลาง เพื่อหาผลประโยชน์จากการตบทรัพย์และการเก็บส่วยรายเดือน ที่นายทุนและร้านค้า ที่มีการขายเหล้าและบุหรี่หลบหนีภาษี “โวยวาย” กันให้ขรม ว่า เป็นการเก็บส่วย ที่ซ้ำซ้อน ทั้งที่มาจาก ”กรมเดียวกัน”

และที่เหมือนกันของเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ทั้งจากกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต คือการเลือกปฏิบัติ จับนาย ก แต่ไม่จับนาย ข ทั้งที่ทำการค้าสินค้าผิดกฎหมายเหมือนกัน อยู่ในพื้นทีเดียวกัน ประเด็นนี้ ”กรมศุลกากร” ก็ต้องชี้แจงเหมือกันว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ส่วนของ ”ดีเอสไอ” ที่มีการตั้งสำนักงานใน จ.ปัตตานี และใช้ชื่อว่า ”ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็ขอถามอธิบดีดีเอสไอว่า การจับบุหรี่เถื่อนในร้านค้าบุหรี่เป็นคดีพิเศษตรงไหน เพราะเรื่อง ”เหล้า-บุหรี่” มีหน่วยงานที่จำเพาะอย่าง ”สรรพสามิต” และ “ศุลกากร” ทำหน้าที่หลักอยู่แล้ว

คดีพิเศษ ที่ดีเอสไอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรทำ คือคดีที่เกี่ยวกับ ”ความมั่นคง” เช่น คดีการก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน เรื่องการก่อวินาศกรรม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ดีเอสไอต้องแสดงฝีมือ ไม่ใช่ยกพลไปจับร้านขายบุหรี่

เรื่องการยิงถล่มที่ทำการตำรวจน้ำ ที่ ต.ตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นเรื่องคดีพิเศษ ที่ “ดีเอสไอ” ต้องดำเนินการติดตามสืบสวนและจับกุมคนร้ายมาลงโทษ เพราะ คดีนี้ ”บีอาร์เอ็น” ปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำ กลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง คือกลุ่มนายทุนค้าบุหรี่หนีภาษี ที่ดีเอสไอมีส่วนในการจับกุมหรือไม่ คดีอย่างนี้ คือ”คดีพิเศษ” ที่ “ดีเอสไอ” ต้องช่วยตำรวจในพื้นที่

หรือไม่ก็เรื่อง ”ยาเสพติด” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกลุ่มทุน ที่เป็นนักการเมืองและคนมีสีจำนวนมากอยู่ในกลุ่มก๊วนการค้ายาเสพติด โดยการร่วมมือกับ ”ต่างชาติ”

รวมทั้งเรื่องขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดีอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของอิทธิพล เป็นเรื่องผลประโยชน์ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่มีแต่ข่าว “ดีเอสไอ” จับบุหรี่หนีภาษี ที่เป็นข่าวทั่วไปให้เห็นอยู่ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพราะมันไม่สมศักดิ์ศรีของหน่วยงานที่ชื่อว่า ”ดีเอสไอ” หรือ “ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้”

เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้แค่เรื่องบุหรี่หลบหนีภาษีให้จับกุมเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญการจับกุมบุหรี่หนีภาษีเหมือนการจับหมูในอวย คดีอย่างนี้ถ้าจะพิเศษก็เป็นตรงนี้เอง



ก็เหมือนกับการที่ดีเอสไอจับกุมบุหรี่เถื่อนในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันก่อน คนในพื้นที่เขาสงสัยว่า เป็นเรื่องคนมาใหม่ต้องการ ”โชว์พาว” หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เพราะคนในยะลา เขารู้กันทั้งเมืองว่า มีการขายบุหรี่หนีภาษีในพื้นที่มากมายมาโดยตลอด แต่ไม่เคยมีการจับกุม รวมทั้งคนในวงในก็รู้ว่า “ใคร” ที่ดูแลเรื่องผลประโยชน์ของการค้าบุหรี่หนีภาษี ใน จ.ยะลา ดังนั้นการที่ดีเอสไอจับกุมบุหรี่หนีภาษีครั้งนี้จึงมีกลิ่นทะแม่งๆว่า เป็นเรื่องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติจริงหรือไม่

อ่านแล้วก็พิจารณากันเอาเองว่า การกระทำของกรมสรรพสามิต-กรมศุลกากร และดีเอสไอ มีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนหรือไม่ เป็นการตั้ง หน่วยจากส่วนกลาง เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้หมู่คณะหรือไม่ เพราะภาคใต้วันนี้คือ ”ขุมทรัพย์” ที่ทุกหน่วยงานต่างแย่งชิง

โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม ที่เป็นเดือนสุดท้ายของปี ติดตามปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 หน่วยให้ดี จะมีการ ”แย่งกันตีเมืองขึ้น” หลังการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งและแย่งกันจับกุมกลุ่มผู้ทำผิดที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน เพราะต้องหา ”ของขวัญปีใหม่ของนาย” ไหนจะ ”ของขวัญปีใหม่ของเมีย”



ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]