เกิดคำถามการรับฟังความคิดเห็น ‘เมืองต้นแบบที่ 4’ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ “มีธงนำเพื่อล้มเลิกมากกว่าการเดินหน้าจริงหรือไม่"?!






บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


หลังจากที่ชาว อ.จะนะ จ.สงขลาได้เรียกร้องให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เจ้าภาพในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เลขาธิการ สศช.ก็ได้ตกปากตกคำกับตัวแทนของชาวจะนะ ที่ได้เข้าไปพบเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่า  จะขับเคลื่อนในประเด็นการศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เร็วขึ้นกว่าเดิม

รวมทั้ง การรับฟังความคิดเห็นจะไม่กระจุกตัวเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอและผู้เห็นต่าง ที่เป็นเสียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับประชาชน ที่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

วันนี้ จึงได้เห็นการขับเคลื่อนที่ถือว่า เป็นชิ้นเป็นอันจากสภาพัฒน์ คือมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ.หาดใหญ่ เป็นผู้รับผิดชอบในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ในกรอบที่มีการกำหนดไว้คือ การศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ประกอบแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สงขลา-ปัตตานี เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันเปิดการปฐมนิเทศการระดมความคิดเห็นโครงการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่สงขลา- ปัตตานี ณ หอประชุมศูนย์ประชุม โดยมีนายดนุต พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธานในพิธี ซึ่งคณะผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ ที่เป็นคณาจารย์ของ ม.อ.หาดใหญ่ได้ตั้งกรอบในการระดมความคิดเห็นออกเป็น 4 กลุ่ม ใน 3 ประเด็น คือ

1.ความคิดเห็นในภาพรวมในข้อเสนอแนะ ข้อสงสัย หรือความกังวลต่อโครงการดังกล่าว

2.ปัญหาและความต้องการการพัฒนา ภาพอนาคตที่ต้องการ และแนวทางพัฒนาพื้นที่ จ.สงขลาอย่างยั่งยืนในแต่ละด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และทรัพยากรมนุษย์

และ 3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ให้ความสำคัญมากที่สุด สำหรับการพัฒนา จ,สงขลา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีผู้เห็นเอกสารในการกำหนดกรอบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคณะผู้จัดทำ หรือเจ้าหน้าที่หรือคณาจารย์ ผู้รับผิดชอบต่อโครงการดังกล่าวของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่างก็ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการกำหนดกรอบที่กว้างเกินไป และน่าจะไม่สอดคล้องกับกรอบของสภาพัฒน์ ที่กำหนดเอาไว้ ที่ต้องการให้ประเมินศึกษาผลประทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ เพื่อประกอบแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจ สงขลา–ปัตตานี อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งประเด็นการศึกษาที่จัดทำโดย ม.อ.หาดใหญ่นั้นเป็นการเริ่มต้นที่เดินเข้าทางของเอ็นจีโอ ที่เป็นกลุ่มผู้นำประชาชน ที่เห็นต่าง ออกมาคัดค้าน โดยมีธงให้ล้มเลิกโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ตั้งแต่ต้นมาแล้ว



เท็จจริงอย่างไร ย่อมมีร่องรอยปรากฏ ซึ่งต้องไปดูจากรายนามของคณะทำงานชุดนี้ว่า เป็นชุดเดียวกับที่ปฏิเสธสภาพัฒน์ว่าจะไม่รับเป็นผู้ทำโครงการนี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะมาตั้งแต่ต้นหรือไม่

ถ้าเป็นอย่างที่มีการตั้งข้อสงสัยจริง ก็ต้องมีคำตอบให้ผู้สงสัยว่า ทำไม่สุดท้าย ม.อ.หาดใหญ่ จึงรับงานในโครงการนี้ หลังจากที่มีการปฏิเสธแล้ว

ที่มีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น เป็นเพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ มีประชาชนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการที่จะมีโครงการนี้ เพื่อการพัฒนา ทั้งใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความยากจน และปัญหาการว่างงาน โดยคาดหวังว่า โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม

ดังนั้น จะเริ่มต้น หากมีการวางกรอบที่ไม่ถูกต้องเหมือนว่ามีธงที่จะไม่เอาโครงการนี้ จึงมีการวางกรอบที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกำหนดหัวข้อของการฟังความคิดเห็น ที่กว้างกว่าที่เจ้าของโครงการ คือ สภาพัฒน์ต้องการ

เพื่อที่จะใช้ผลของการประเมินว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ประชาชนคัดค้าน และไม่สอดคล้องกับการพัฒนาในพื้นที่ จ.สงขลา

ทราบว่า ในวันที่มีการปฐมนิเทศ เพื่อระดมความคิดเห็น กลุ่มผู้เห็นต่าง ที่จัดตั้งโดยเอ็นจีโอ และแนวร่วมทางการเมือง จะมีการนำกลุ่มประมงชายฝั่งและนักเรียนนักศึกษาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนากว่า 500 คน ไปแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้าน

ดังนั้น ถ้าหัวข้อทั้ง 3 หัวข้อ ที่ถือเป็นกรอบ ที่ไม่ถูกต้องและเกินกว่าความต้องการของสภาพัฒน์ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ที่คัดค้าน ก็น่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็น ที่ผิดพลาด

เช่นเดียวกับที่กลุ่มผู้คัดค้านเคยโจมตีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่จัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ผ่านมานั่นเอง



ก็ฝากให้กับทุกภาคส่วน ที่มีความคิดเห็นอยากเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามเวทีระดมความคิดเห็น ที่ ม.อ.หาดใหญ่เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น

ว่าเป็นไปในทิศทางของสถาบันการศึกษา ที่มีความเป็นกลาง ในการทำหน้าที่ ซึ่งมีผลในการพัฒนาประเทศ ที่มีผลต่อการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชนหรือไม่

ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้ติเรือทั้งโกลน แต่ต้องการให้การรับฟังความคิดของประชาชนต่อโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีความถูกต้อง เป็นกลาง และไม่มีธงนำให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เพราะถ้ากลายเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นที่มีธงนำให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว นอกจากจะเป็นการสูญเปล่าของงบประมาณแล้ว ยังเป็นการขยายความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับประชาชน ที่สำคัญคือความรู้สึกที่ไม่ดีต่อมหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้จัดทำอีกต่างหาก



ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]