หวั่นซ้ำรอยพัทลุง! เกาะรังนก จ.กระบี่ยังไร้ผู้รับสัมปทานรายใหม่เหตุราคากลางสูงไม่คุ้มทุน
ภายในประเทศ: หลายฝ่ายหวั่นเกิดเหตุขโมยรังนกอีแอ่น จ.กระบี่ซ้ำรอยเหมือนที่ จ.พัทลุง เมื่อปี 2564 หลังหมดสัมปทานไปเมื่อวันที่ 14 เม.ย. แต่ยังไร้ผู้ประมูลรายใหม่ เหตุจังหวัดตั้งราคากลางสูงถึง 160 ล้านบาท ซ้ำวันส่งมอบเกาะคืนมีกรรมการเพียงคนเดียวไปรับ ไร้เงาคณะกรรมการคนอื่นๆ
16 เมษายน 2566 - ก่อนที่สัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่นธรรมชาติ ทะเล จ.กระบี่ จำนวน 61 เกาะ ที่มีบริษัทรังนกกระบี่ เป็นผู้ได้รับสัมปทาน จะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 14 เมษายน และบริษัทจะส่งมอบเกาะรังนกคืนให้จังหวัดกระบี่ดูแลนั้น นายภาสกร บุญญลักมญ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดกระบี่ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาการเปิดประมูลรอบใหม่ โดยที่ประชุมได้ตั้งราคากลางไว้ที่ 160 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี กำหนดยื่นประมูล ในวันที่ 10 เมษายน 66 เวลา 09.00-11.00 น. และจะเปิดซองกระมูลในเวลา 13.30 น. แต่ในวันเวลาดังกล่าว กลับไม่มีบริษัทใดเข้าชื้อซองเพื่อประมูลเกาะรังนก เนื่องจากมองว่าราคากลางสูงเกินไป ไม่คุ้มค่าการลงทุน
นอกจากนี้ ในวันที่บริษัทรังนกกระบี่ส่งมอบเกาะรังนกคืนให้จังหวัดเป็นผู้ดูแลต่อไป มีเพียงนายประพิชย์ หลังสัง นายก อบต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก ไปรับมอบเกาะทะลุเพียงคนเดียว ส่วนคณะกรรมการที่รับผิดชอบคนอื่นไม่เดินทางมารับมอบเกาะตามที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเมื่อหมดสัมปทาน ทั้งนี้ จากการสำรวจเกาะรังนก บริเวณเกาะทะลุ พบว่า รังนกภายในถ้ำมีความสมบูรณ์ในวันส่งมอบก่อนลงนามในหนังสือไว้เป็นพยาน
ส่วนที่เกาะไวกิ้ง ในหมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เป็นอีกจุดที่มีการรับมอบ แต่ตรงจุดดังกล่าวไม่มีคณะกรรมการรังนกเดินทางมารับมอบ พร้อมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาเฝ้าเกาะแต่อย่างใด ก่อนที่คนงานบริษัทได้เก็บสัมภาระและอุปกรณ์กลับขึ้นฝั่ง
นายประพิชย์ หลังสัง นายก อบต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก เปิดเผยว่า รู้สึกกังวลกับการเฝ้าเกาะในช่วงที่มีรังนกเต็มถ้ำ เพราะการดูแลรักษาของท้องถิ่นยากกว่าผู้สัมปทาน จึงอยากวอนให้คณะกรรมการเก็บอากรภาษีรังนกอีแอ่นกระบี่ รีบหาผู้สัมปทานมารับช่วงต่อโดยเร็ว ไม่เช่นั้นอาจจะส่งผลกระทบ เกิดการขโมยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ อบต.ได้ภาษีจากรังนกอีแอ่นปีหนึ่ง 5 ล้านบาท หากไม่มีการประมูลรายได้ส่วนนี้คงจะขาดไป
ทั้งนี้ หลายฝ่ายหวั่นว่า หากสัญญาสัมปทานว่างลง ไม่มีผู้ประมูลรายใหม่ จะเกิดช่องว่างจนนำไปสู่การขโมยรังนกอีแอ่นที่เป็นสมบัติชาติเกิดขึ้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.พัทลุง เมื่อปี 2564 ที่เกิดช่องว่างไม่มีผู้รับสัมปทานเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้สมบัติชาติที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทได้รับความเสียหายจากเข้าไปขโมย ช่วงเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแล จนมีการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งชาวบ้านดำเนินคดีไปมากถึง 43 ราย และยังส่งผลกระทบต่อลูกนกอีแอ่นต้องตายเป็นจำนวนมหาศาลจนยากที่จะประเมิน และเป็นการทำลายตัดวงจรชีวิตลูกนกเกิดใหม่ จนส่งผลกระทบทำให้จำนวนนกน้อยลง
พล.ต.อ.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ นายกสมาคมพนักงานสอบสวน อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีรังนกในพื้นที่ จ.พัทลุง ได้ลงพื้นที่สำรวจถ้ำรังนกหมู่เกาะกระบี่ เพื่อดูสภาพแวดล้อม เส้นทางเข้าออก เพื่อเป็นแนวทางหากมีการเข้าไปขโมยในช่วงว่างเว้นสัมปทานของ จ.กระบี่ ที่อาจจะทำให้วงจรชีวิตนกอีแอ่นน้อยลงได้ พร้อมทั้งกล่าวว่า หากไม่มีใครเข้ามาดูแลเกาะหรือไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเกาะรังนกความเป็นไปได้ว่ารังนกจะถูกขโมยนั้นเป็นไปได้สูง เนื่องจากการเข้าเกาะนั้นง่ายและสะดวก
ด้านนายอภิชิต อังศุธรางกูร หรือที่รู้จักกันในนาม “เล็ก สตูล” นายกสมาคมอนุรักษ์นกอีแอ่นกินรังในธรรมชาติภาคใต้ กล่าวว่า หมู่เกาะรังนกทะเลกระบี่มีว่างเว้นสัมปทานลง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการขโมยรังนก อาจจะส่งผลให้ปริมาณลูกนกอีแอ่นลดลงในช่วงปีถัดไป โดยจังหวัดกระบี่นั้นจัดเก็บรังนกขาวได้ 120 กิโลกรัมต่อปี มีพ่อแม่พันธ์ุนกอีแอ่น 28,000 ตัว หากวงจรชีวิตถูกทำลายการขยายพันธ์คงทำได้ยาก
“คณะกรรมการจัดเก็บอากรภาษีรังนกจังหวัดกระบี่ได้ตั้งกำแพงไว้สูง ทำให้ไม่มีใครกล้าประมูล เนื่องจากต้องเจออุปสรรคในหลายๆ ด้าน เมื่อเข้าไปสัมปทานแล้วจะมีแต่ขาดทุน เพราะการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศก็ยังมีกำแพงจากกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์อีก จึงทำให้มองว่าไม่คุ้มทุน และหากเกิดช่องว่างสัมปทานเกาะกระบี่ เหมือนกับเกาะรังนกที่พัทลุง ในครั้งที่ผ่านมา” นายอภิชิตกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น: