พบฝุ่น pm2.5 สูงในภาคใต้หลายพื้นที่ ทั้งกระบี่ ภูเก็ต สตูล ยะลา นราธิวาส
สิ่งแวดล้อม: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบฝุ่น pm2.5 สูงในหลายพื้นที่ทั่วภาคใต้ เกิน 50 มคก./ลบ.ม.ทั้งกระบี่ ท่าเรือปากบารา ยะลา เกือบจะเกินมาตรฐานที่ภูเก็ตและนราธิวาส เหตุระบายอากาศได้ต่ำ คาดจะเป็นอีก 1-2 วัน จนกว่าจะมีฝนตกในบางพื้นที่
16 เมษายน 2566 - เวลาประมาณ 13.22 น. เว็บไซต์ www.airthai.in.th เว็บไซต์รายงานความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 โดยสถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานว่า มีอย่างน้อย 3 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ที่มีค่า PM2.5 รายชั่วโมงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1.อบจ.กระบี่ วัดได้ 58.7 มคก./ลบ.ม. 2.ท่าเรือปากบารา จ.สตูล วัดได้ 57.3 มคก./ลบ.ม. และ 3.อบจ.ยะลา วัดได้ 52.3 มคก./ลบ.ม.
ส่วนที่น้อยกว่า 50 มคก./ลบ.ม. แต่มากกว่า 40 มคก./ลบ.ม.นั้นมี 2 แห่งคือ 1.เทศบาลเมืองนราธิวาส วัดได้ 47.9 มคก./ลบ.ม. และ 2.อบจ.ภูเก็ต 43.3 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ เพจ รายงานสถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ โดยสถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานเมื่อวานนี้ (15 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในภาคใต้ยังคงไม่ดีนัก ความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นอยู่ในช่วง 50-55 ug/m3 ทั่วทั้งภาคใต้ ประชาชนควรสวมใส่หน้ากากป้องกันเมื่อออกนอกอาคาร
“สาเหตุหลักเกิดจากภาคใต้ยังคงมีอัตราการระบายอากาศต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละอองในพื้นที่มากขึ้นในช่วงนี้ กอปรกับลมในแต่ละระดับความสูงมีหลายทิศทางหอบฝุ่นบางส่วนจากภายนอกเข้าพื้นที่”
เพจ รายงานสถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ รายงานว่า ลมที่ระดับความสูงประมาณ 500-1000 เมตร AGL เป็นลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดผ่านกลุ่มฝุ่นควันบางส่วนบริเวณมหาสมุทรอินเดียและบางส่วนของพม่าและลมที่ระดับความสูงประมาณ 2000 เมตร AGL เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านกลุ่มฝุ่นควันและ hotspot บางส่วนจากกัมพูชาและเวียดนาม มาสู่ภาคใต้
“คาดว่าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้อีก 1-2 วัน จนกว่าจะมีฝนตกในบางพื้นที่ทำให้สถานการณ์ฝุ่นควันดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงนี้ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น การเผาชีวมวลหรือเผาขยะในที่โล่ง เป็นต้น”
ไม่มีความคิดเห็น: