จับตา “สุนทรเทคโนโลยี” จากเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ศอ.บต. ถึงระบบบำบัดน้ำเสีย รพ.จะนะ






รายงานพิเศษ โดย.. All about News



เป็นที่น่าสังเกต เมื่อปรากฏชื่อ “สุนทรเทคโนโลยี” ขึ้นอีกครั้ง

ชื่อนี้ปรากฏในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในขณะนั้น ได้ประกาศให้บริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคาจ้างก่อสร้างจ้างเหมาปรับปรุงระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียขนาด 200 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยวิธีคัดเลือก ที่ได้เสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 16,162,900 บาท และต่อมาทำสัญญาในวันที่ 27 มกราคม 2566 สัญญาเลขที่ 244/2566

นั่นก็เพราะบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด นั้น เดิมทีคือ หจก.สุนทรเทคโนโลยี ที่ได้แปรสภาพมาเป็นบริษัทจำกัด เมื่อปี 2564

หจก.สุนทรเทคโนโลยีนั้น หากยังจำกันได้ คือหนึ่งในผู้ที่ได้งานในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อปี 2557 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีทั้งหมด 6 โครงการรวม 16,404 จุด งบประมาณ 1,011,916,500 บาท ราคาเฉลี่ยจุดละ 61,687 บาท




ครั้งนั้น หจก.สุนทรเทคโนโลยีได้งานไป 4 โครงการจากทั้งหมด 6 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 644.0568 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 1,011,916,500 บาท โดยมี 3 โครงการที่ หจก.สุนทรเทคโนโลยีดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว เป็นการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ 9,984 ชุด งบประมาณ 615.492 ล้านบาท และมีอีก 1 โครงการที่ หจก.สุนทรเทคโนโลยีทำร่วมกับเอกชนรายอื่น หจก.สุนทรเทคโนโลยีได้รับในพื้นที่ จ.ยะลา มีงบประมาณรวม 28.5648 ล้านบาท

ปรากฏว่า หลังจากโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต.ทั้ง 6 โครงการ 16,404 จุด งบประมาณกว่าพันล้านแล้วเสร็จ ก็พบว่า มีปัญหาใช้งานไม่ได้ประมาณ 11,435 จุด หรือคิดเป็น 72%

มีการร้องเรียนและพยายามซ่อมแซมกันหลายครั้ง กระทั่งวันที่ 14 กันยายน 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องรวม 4 รายในโครงการนี้

แต่ไม่มีชื่อของ หจก.สุนทรเทคโนโลยีรวมอยู่ในนั้น

ผู้ถูกชี้มูล 4 รายประกอบด้วย 1.นายพิทยา รัตนพันธ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ในขณะนั้น 2.นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยา นายพิทยา 3.นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด และ 4.บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด



ย้อนกลับไปดู หจก.สุนทรเทคโนโลยี ที่ได้งานในโครงการนี้เกินกว่าครึ่ง พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 มีหุ้นส่วน 3 คน ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนคือขายส่งโทรศัพท์และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการค้าวิทยุสื่อสารและเครื่องกระจายเสียงแบบมีสายและไร้สาย ระบบเสียงห้องประชุมรวมทั้งอุปกรณ์

ปี 2563 ซึ่งส่งงบการเงินล่าสุด ได้แจ้งประเภทธุรกิจเป็นการจัดการน้ำเสีย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดการน้ำเสีย

จากนั้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ได้แปรสภาพเป็นบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด เหลือกรรมการเพียง 1 คน คือ นายวันชัย วิทยะสุนทร มีวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนประกอบกิจการเกี่ยวกับระบบน้ำเสียหรือบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี แจ้งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ไว้คือ เลขที่ 31 ถนนเลขะกุล ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ส่งงบการเงินปีล่าสุดคือ 2564 ไม่ปรากฏงบการเงินปี 2565

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต.เมื่อปี 2564 ได้มีการตรวจสอบในปีเดียวกันนั้นพบว่า เลขที่ 31 ถนนเลขะกุล ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ที่มีการแจ้งว่า เป็นที่อยู่ของ หจก.สุนทรเทคโนโลยี หรือบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด นั้น กลับเป็นที่ตั้งของ หจก.ศรีเมืองซัพพลายด้วยเช่นกัน

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เมื่อตรวจสอบจากกรมพัฒนาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทั้งบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด และ หจก.ศรีเมืองซัพพลาย ก็ยังคงใช้ที่อยู่เดียวกันนี้ แต่เมื่อไปดูในสถานที่จริง กลับพบว่า เป็นที่ตั้งของ หจก.ศรีเมืองซัพพลายเท่านั้น ไม่ได้มีชื่อหรือป้ายของบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด อยู่ด้วย





เมื่อตรวจสอบ หจก.ศรีเมืองซัพพลาย ก็พบว่า แม้จะแจ้งกรมพัฒนาการค้าว่า ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง แต่ก็มีประวัติได้รับงานติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างด้วย เช่น ในปี 2562 ได้งานติดตั้งโคมไฟถนน LED พลังงานแสงอาทิตย์ของ อบต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี วงเงิน 118,000 บาท และโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าของ อบต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี วงเงิน 683,000 บาท

ที่สำคัญ ศอ.บต.เคยสืบราคากลางในโครงการซ่อมแซมโคมไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวิธีพิเศษ วงเงินงบประมาณ 4,354,200 บาท เพื่อซ่อมแซมเสาไฟฟ้าในจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ จำนวน 531 จุด จาก หจก.ศรีเมืองซัพพลายด้วย

ท้ายสุด ศอ.บต.ได้เลือกบริษัท ไฮโตร เอเนอร์จี คอนเวอร์ชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ไฮโตร เอเนอร์จี คอนเวอร์ชั่น จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไบโอแก๊ส เพาเวอร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด ประกอบกิจการค้าหลอดไฟฟ้า และอุปกรณ์สำหรับไฟแสงสว่างและวัสดุอุปกรณ์ ตั้งอยู่ 219/17 ถนนเมืองใหม่ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา




ถามแบบคนคิดมากก็คือ ทำไม “สุนทรเทคโนโลยี” ที่ไม่ได้มีประวัติเกี่ยวข้องอะไรกับเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ แต่ทำเกี่ยวกับโทรศัพท์และวิทยุสื่อสาร จนปัจจุบันนี้ มาทำเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีที่อยู่เดียวกันกับเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเสาไฟฟ้า กลายเป็นคนได้งานเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ แทนที่จะเป็น “ศรีเมืองซัพพลาย”

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องรวม 4 รายในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ เมื่อปี 2564 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมในคดีนี้ ยังไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินคดีกันอย่างไร และก็ยังไม่มีการประกาศรายชื่อชี้มูลผู้กระทำผิดเพิ่ม

ดังนั้น เมื่อมีชื่อ “สุนทรเทคโนโลยี” เข้ามารับงานจากภาครัฐอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากจะส่งงบการเงินถึงเพียงแค่ปี 2564 แล้ว ล่าสุด ในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังระบุถึงสถานะสัญญาของโครงการก่อสร้างจ้างเหมาปรับปรุงระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลจะนะไว้ว่า “ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด

ก็หวังว่า โครงการระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลจะนะจะไม่ซ้ำรอยกับโครงการเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต. ที่เกิดปัญหาตามมามากมาย..



ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]