ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงการค้าภายใน มาเลเซีย ผลักดันการค้าชายแดนจับคู่ 5 เมือง
ชายแดนใต้: ศอ.บต.ชูโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่าน “เมืองคู่แฝดการพัฒนา” สานสัมพันธ์ 5 จังหวัดไทยกับ 5 รัฐของมาเลเซีย พร้อมข้อเสนอการค้าชายแดนและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจร่วม 2 ประเทศ
13 มิถุนายน 2566 - นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีตนเป็นประธาน ได้ประชุมปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการกับ Datuk Seri Salahuddin Bin Ayub, Menteri Perdagangan Dalam Negeri Dan Kos Sara Hidup รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าภายใน มาเลเซีย ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยมีผลการประชุมที่ไทยและมาเลเซียยินดีจะร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกันใน 5 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอเชิงหลักการที่สำคัญ ได้แก่
1.การผลักดันความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเกษตรกร ที่จะเริ่มทยอยออกผลผลิตสู่ตลาดในห่วงระยะเวลาต่อจากนี้ อาทิ ลองกอง ทุเรียน เงาะ และมังคุด เป็นต้น จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยประสงค์ขอให้มาเลเซียเป็นคู่ค้า ที่เป็นตลาดหลักที่สำคัญของประเทศไทย และผ่อนคลายมาตรการการค้าและพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ผลิตผลของทั้งสองประเทศจำหน่ายได้มากขึ้น รวมทั้ง รองรับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตอันใกล้นี้
2.การขยายช่องทางการตลาดสินค้าฮาลาล ที่เป็นผลผลิตจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านโครงการผลิตภัณฑ์สินค้าดีชายแดนใต้สู่ประเทศมาเลเซีย เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในประเทศมาเลเซีย ในกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากประเทศไทยไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของการจัดชั้นวางสินค้าของไทยในชั้นวางสินค้าร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่อื่นๆ การจัดสินค้าในโลกออนไลน์ รวมทั้งการจัดงานโปรโมทการบริโภคสินค้าของไทยที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาเลเซียด้วยการจัดงานโปรโมทตามรัฐต่าง ๆ ในทุกโอกาส อาทิ ข้อเสนอ การจัดมหกรรมว่าด้วยอาหารไทย หรือ “Thai Food Carnival” ในทุกๆ เดือน ตามที่ทางมาเลเซียเห็นสมควร โดยขอให้มาเลเซียมีหนังสือประสานงานมายังไทย เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อนำไปสู่เรื่องของการดำเนินการดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมต่อไป
3.การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ พื้นที่ชายแดน เช่น สุไหงโก-ลก-กลันตัน เบตง-เปรัค สะเดา-เคดาห์ สตูล-เปอร์ลิส และปัตตานี-ตรังกานู (ด่านทางน้ำ) เป็นต้น เพื่อให้อำนวยความสะดวกในด้านการค้าแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรได้ โดยในอนาคตอันใกล้คาดหวังว่า พื้นที่ดังกล่าวจะพัฒนาเป็น Twin City โดยการจับคู่ 5 รัฐของมาเลเซีย กับ 5 จังหวัดของไทย เพื่อเป็นเมืองพี่เมืองน้องในการพัฒนา การค้าชายแดนร่วมกันต่อไป
4.พื้นที่ด่านชายแดน ณ จังหวัดสตูล ผู้ประกอบการฝ่ายไทยขอให้มาเลเซียได้มีการค้าชายแดนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ยุติลงไปแล้ว แต่บรรยากาศการค้าชายแดนยังไม่กลับมาคึกคักเช่นเดิม ดังนั้น เนื่องจากสถานการณ์ตลาดการค้าชายแดนของประเทศมาเลเซียยังไม่ได้เปิดดำเนินการ ในขณะที่ฝั่งไทยได้เปิดดำเนินอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้เร่งเปิดตลาดการค้าชายแดนของประเทศมาเลเซีย
และ 5.ข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ระหว่างกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ประเทศมาเลเซีย กับกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและขั้นตอนการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน่วยประสานงานกลางของทั้งสองประเทศให้อย่างใกล้ชิด
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าภายใน ประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวขอบคุณ ชื่นชมข้อเสนอการริเริ่มของฝ่ายไทยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้ง 2 ประเทศ อย่างยั่งยืน รวมทั้ง เล็งเห็นความจำเป็นในเรื่องดังกล่าวตามข้อเสนอฝ่ายไทย ซึ่งประโยชน์เหล่านี้จะไปสู่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป พร้อมนี้ Datuk Seri Salahuddin Bin Ayub ได้มอบหมายให้ Datuk Azman Bin Mohd Yusof เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าภายใน เป็นผู้แทนหลักของกระทรวงที่จะนำข้อมูลไปหารือรวมกับฝ่ายราชการของกระทรวงต่อไปและจะได้มีหนังสือเชิญผู้บริหารหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องของไทยไปร่วมประชุมหารือและจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปโดยเร็ว
ไม่มีความคิดเห็น: