เมื่อ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” กำลังจะเกิดขึ้นในชายแดนใต้ ฝ่ายความมั่นคง-กต.จะสร้าง ‘กำแพง’ หรือ ‘กังหันลม’ ก็ต้องเร่งทำ
บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก
มีข้อสังเกตที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ก่อให้เกิดการก่อการร้าย ที่สร้างความรุนแรงในภาคใต้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ “การก่อการร้ายลดความถี่ลง” โดยล่าสุดคือการวางระเบิดแสวงเครื่องรถตู้ที่ทหารพรานชุด รปภ.พระขับนำพระสงฆ์ 3 รูป ของวัดไพโรจน์ประชาราม ที่ตั้งอยู่ใน ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อไปบิณฑบาต ทำให้ทหารพรานที่ทำหน้าที่ รปภ.พระ 2 นาย และพระสงฆ์ 3 รูป ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเรียกว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อ “เลี้ยงกระแส” ให้สังคมได้รับรู้ว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความรุนแรง มีการใช้อาวุธ ใช้ ระเบิด มีคนตาย มีคนเจ็บ มีหญิงหม้าย มีเด็กกำพร้า เกิดขึ้น ยังมีสถานการณ์ของความ “ขัดแย้ง” ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
มีการตรวจค้น มีการจับกุม มีการ “วิสามัญฆาตกรรม” ฝ่ายตรงข้าม และพยายามสร้างข่าวการอุ้มหายและซ้อมทรมาน เพื่อสร้างกระแสและแรงกระเพื่อมจากเอ็นจีโอ จากหน่วยงานสิทธิมนุษย์ชน และจากภาคประชาสังคมที่เป็นปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการหนุนเสริมให้สังคมเห็นว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความรุนแรง และมีประชาชนที่ยังกลายเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐ
ซึ่งก็ไปตรงกับการที่หน่วยงานความมั่นคงยังประกาศให้การใช้ “กฎหมายพิเศษ” ในการควบคุมพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกๆ สามเดือน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สงบหรือลดความรุนแรงลง
ในขณะเดียวกันก็จะเห็นว่า แม้ความถี่ของการเกิดเหตุจะน้อยลง และเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น คาร์บอมบ์ จักรยานยนต์บอมบ์ รวมทั้งการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง การวางเพลิง ต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือนจะลดน้อยลง แต่การเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่จาก “องค์กรต่างประเทศ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมากขึ้น และแต่ละองค์กร ก็มีแผนในการเข้ามาตั้งสำนักงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปฏิบัติภารกิจขององค์กร ทั้งที่ไม่ได้รับเชิญจากหน่วยงานของไทย
ถ้าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นจริง ตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารายงาน ทำไม่หน่วยงานจากต่างชาติจึงยังเคลื่อนไหวและต้องการมีบทบาทกับการยุ่งเหยิงกับการ “ดับไฟใต้” ซึ่งไม่สอดคล้องกับการที่ชาติตะวันตกเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ถามว่า ชาติตะวันตกเห็นอะไร ที่ต่างจากการเห็นของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ตัวอย่างแรกคือ เจ้าหน้าที่กาชาดระหว่างประเทศ หรือไอซีอาร์ซี ที่ดื้อด้านที่สุด “ขับไม่ไป ไล่ไม่พ้น” ย้ายฐานปฏิบัติการจาก “ปัตตานี” มาตั้งฐานปฏิบัติการใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เป็นพื้นที่นอกสามจังหวัดชายแดนและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อที่จะได้ตะแบงว่า ไม่ได้มีฐานปฏิบัติการในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
มีการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าจาก “ฝรั่ง” ที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมตะวันตก มาเป็น “คนเอเชียเชื้อสายจีน” ซึ่งจะเข้าใจในวัฒนธรรมของคนเอเชีย และเลือกที่จะใช้สุภาพสตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานมีความสะดวก และได้รับความเกรงใจจากหน่วยงานของรัฐ และอาศัยคำว่า “กาชาด” ในการเข้าหลังบ้านของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการแสวงหาช่องทางของการเข้าถึงกลุ่มมวลชน และข้อมูล ที่ “ไอซีอาร์ซี” ต้องการ
สำหรับความเคลื่อนไหวของ “เจนีวาคอลล์” ซึ่งเป็นเอ็นจีโอระดับสากลนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงให้มาก เพราะ ณ วันนี้เป็นที่รับรู้ ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่า ผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลังแผนการเจรจาสันติภาพของ “บีอาร์เอ็น” ผู้ที่กำกับกระบวนการสันติภาพ คือ “เจนีวาคอลล์” ที่มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับ “ไอซีอาร์ซี”
นอกจากนั้น หน่วยงานจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายวัฒนธรรม ก็จะผลัดเปลี่ยนกันเดินสายลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดเอา “ปัตตานี” เป็นด้านหลัก เช่นเดียวกับ “สหภาพยุโรป” ที่มีการส่งฑูตานุฑูตเข้าพบปะ หารือ กับหน่วยงานรัฐ กับภาคประชาสังคม กลุ่มสมาคมสตรี กลุ่มแม่บ้าน เพื่อเสนอโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ ประหนึ่งว่า ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนมิกสัญญี ที่อยู่ในสงคราม หรือเพิ่งผ่านพ้นภาวะสงคราม ที่ต้องมีการฟื้นฟูทุกสิ่งทุกอย่าง
ล่าสุด คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดใหญ่ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีการนัดพบกับภาคประชาสังคมและกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ที่เจ้าหน้าที่ทูตเข้าพูดคุยหรือหารือ เป็นบุคคลหรือภาคประชาสังคม ที่หน่วยงานความมั่นคงติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ที่ยึดโยงอยู่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” หรือกลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน หรือการปกครองตนเอง
นอกจากนี้แล้วยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศจากสถานทูตตะวันตกอีกหลายประเทศ ที่เดินทางลงพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส เป็นระยะๆ และหมุดหมายคือการพบกับภาคประชาสังคม และบุคคลที่อยู่ในฝ่ายปีกทางการเมืองของบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น
คณะของประเทศตะวันตกไม่เคยขอพบหรือพูดคุย หรือหารือ ถึงปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้กับองค์กรของไทยพุทธ แบบที่ไม่รับฟังและไม่สนใจ เหมือนกับว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเพียงผู้ทิ่เป็นมุสลิมเท่านั้น และประหนึ่งว่าห่วงใยในสวัสดิภาพ สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ความยุติธรรม ของคนมุสลิม ทั้งที่คนไทยพุทธคือผู้ที่ถูกกระทำจากกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็น จนชุมชนไทยพุทธกลายเป็นชุมชนร้าง คนไทยพุทธส่วนหนึ่งพลัดที่นาคาที่ไร่ เพราะสถานการณ์ของ “ไฟใต้” มากกว่าคนมุสลิม ที่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็อยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย
และจากการสังเกต พบว่าหลังจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดย “พรรคก้าวไกล” ยิ่งพบว่า ทูตก็ดี ตัวแทนของสถานทูตก็ดี อีกหลายประเทศ ก็จะเคลื่อนทัพเข้ามาเกาะติดกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างผิดสังเกต เหมือนกับแต่ละประเทศจะรู้ว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังมีการเปลี่ยนรัฐบาล จะมีสถานการณ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นกับขบวนการดับไฟใต้ และ”ประเทศเหล่านั้นได้เข้ามาเตรียมการ เพื่อการมีส่วนร่วมแบบไม่ยอมตกขบวนรถไฟ
ในขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมและขบวนการคนรุ่นใหม่ รวมทั้งขบวนการนักศึกษาใน “ปัตตานี” ก็มีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ เช่นจะมีการเปิดตัว “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” จะมีการอภิปรายในหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี” การทำประชามติจำลอง จะมีการเสวนาโดยนักเคลื่อนไหวและนักการเมือง การแถลงการณ์ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และต้องติดตาม เพราะเป็นความเคลื่อนไหว ที่สอดคล้องกับบริบทของเหล่าตัวแทนจากชาติตะวันตก ที่เข้ามาปฏิบัติการร่วมกับภาคประชาสังคม ที่มีความต่อเนื่องกันมาหลายปี
วันนี้ สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนผ่านจากการใช้กำลังอาวุธมาเป็นการใช้ “พลังทางสังคม” เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีตัวแทนของประเทศตะวันตก ที่เคยเป็น “เจ้าอาณานิคม” เข้ามามีส่วนกับสถานการณ์ของ “ไฟใต้” ที่ยังเห็นไม่ชัดเจนว่า จะมีช่วยกระพือไฟ หรือมาช่วยกันดับไฟ แต่สิ่งที่ชัดเจนและเชื่อมั่นได้คือ ทุกประเทศที่เข้ามาขับเคลื่อนกับกลุ่มมวลชนในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนต้องมีผลประโยชน์ที่ต้องการ
ทั้งหมดคือ ความเปลี่ยนแปลงของ “ไฟใต้” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงของประเทศอาจะตามไม่ทัน และถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว
ยุบ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” ( ศอ.บต.) ยุบ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยกเลิกกฎหมายพิเศษ พาทหารกลับบ้าน แล้วมีการถามคนไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วยังว่า เขามีความเห็นอย่างไรและต้องการอย่างนั้นหรือไม่
ถามว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ได้สำเหนียกถึงอันตรายของ “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ที่อาจจะพัดพาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในอีกทิศทางหนึ่ง ที่อาจจะสร้างความสูญเสียและเป็นหายนะแก่ประเทศชาติในเวลาอันใกล้นี้
ถ้าสำเหนียกได้แล้ว หน่วยงานเหล่านี้จะคิดอ่านอย่างไรในการต่อต้าน “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” จะสร้างกำแพงหรือกังหันลมก็ต้องเร่งทำ ก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าทางของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องการ
ไม่มีความคิดเห็น: