หนังสือบอกเล่าเรื่องวัน “ปฏิวัติสยาม” คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง








ครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายนครั้งใด ก็อยากชวนให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นทุกครั้งไป

แม้ว่า ปัจจุบันนี้ 24 มิถุนายนไม่ได้เป็น “วันชาติ” เหมือนแต่เก่าก่อน แต่ก็ยังมีความหมายในใจของใครหลายๆ คน เพราะเมื่อปี 2475 วันนี้เป็นวันของการปฏิวัติสยาม คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ออกมามากมาย ที่สำคัญและเหมือนเป็นเล่มนำคือ “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม The End of The Absolute Monarchy in Siam

หนังสือเล่มนี้เขียนในปี 2527 โดย "เบนจามิน เอ. บัทสัน" (Benjamin A. Butson) ผู้ซึ่ง "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า "เป็นนักประวัติศาสตร์ไทย ที่ดีที่สุดในโลกภาษาอังกฤษตะวันตกจะพึงผลิตขึ้นมาได้ น่าเสียดายเหลือเกินที่เบนมาด่วนถึงแก่กรรมไปเมื่อ 7 มกราคม 2539"

โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แปลเป็นภาษาไทย จัดพิมพ์ครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน 2543 โดยได้รับการอนุญาตจากครอบครัวของ “เบนจามิน เอ. บัทสัน” ความหนา 468 หนา

เนื้อหาของ "อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม" ไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอเหตุการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพียงอย่างเดียวตามชื่อหนังสือ หากแต่นำเสนอการศึกษาในในเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

เริ่มจากยกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกและสยาม โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่มีผลมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมาจากการค้นคว้าในเอกสารเก่าทั้งไทยและต่างประเทศ
 




เล่มต่อมาคือ "เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕" เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่เขียนจากคำบอกเล่าของสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร ได้รับคัดเลือกให้เป็น "หนึ่งในร้อยหนังสือดีในรอบร้อยปีที่คนไทยควรอ่าน"

เขียนโดย "กุหลาบ สายประดิษฐ์" นักหนังสือพิมพ์และนักเขียน เจ้าของนามปากกา "ศรีบูรพา" แห่งคณะสุภาพบุรุษ

พิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ในปี 2484 ก่อนที่จะรวมเล่มในปี 2490 โดยสำนักพิมพ์จำลองสาร

เนื้อหาภายใน "กุหลาบ" นำคำสัมภาษณ์ของ "พระยาพหลพลพยุหเสนา" ในช่วงปี 2484 ที่บอกเล่าถึงเบื้องหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาเรียบเรียง

เว้นแต่ตอนที่ 17 อันเป็นตอนสุดท้ายเท่านั้น ที่ "กุหลาบ" เรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์ของ "พระประศาสน์พิทยายุทธ" หนึ่งในคณะราษฎร เนื่องจาก "พระยาพหลฯ" ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน

เริ่มจากมูลเหตุแห่งแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง การรวบรวมสมัครพรรคพวก และการประชุมวางแผน รวมถึง เหตุการณ์ในคืนก่อนการปฏิวัติ


อีกเล่มคือ “ปฏิวัติ 2475” เป็นหนังสือที่มีต้นฉบับมาจากผลงานของนักวิชาการ 2 ท่าน คือ

อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรื่อง "2475 : การปฏิวัติสยาม"

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2532 ในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "รัตนโกสินทร์ : การเมืองการปกครองสมัยประชาธิปไตย" ซึ่งกว่าจะมาอยู่ในเล่มนี้ ก็มีการปรับปรุงแก้ไขมาเรื่อย

อีกท่านคือ อ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง "2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ" ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2533

เปิดเรื่องด้วยงานของ อ.ชาญวิทย์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ การก่อตั้งขบวนการคณะราษฎร ความเห็นสองด้านต่อ 2475

จากนั้นเป็นงานของ อ.ธำรงศักดิ์ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การปฏิวัติในปี 2475

เรื่อยมาถึงเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงของกองทัพ จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476





เล่มนี้ก็ไม่ควรพลาด "ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500" เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการเมืองไทยเพียงส่วนหนึ่งคือในช่วงปี 2475-2500 ที่มีคณะราษฎรและจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวละครหลัก

มี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้เขียน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

เนื้อหาภายในปูพื้นกันก่อนด้วยเรื่องราวของภาพรวมของสังคมและการเมืองไทย ที่ชี้ให้เห็นว่า การจะศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจจะทำได้โดยการกำหนดให้ปี 2475 หรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายนเป็นจุดเริ่มต้น

แต่ต้องศึุกษาเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ย้อนไปถึงช่วงการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เห็นกระบวนการในประวัติศาสตร์เกี่ยวพันและต่อเนื่องกันอย่างไร

สอดคล้องกับในบทที่ 2 "2475 ปฏิวัติสยาม" ที่มีบทสรุปว่า การยึดอำนาจ 2475 มีผลมาจากความเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของสยาม

การทำความเข้าใจต่อปี 2475 จะต้องดูทั้งภูมิหลังของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการปฏิรูปสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้เกิดปัจจัยด้านอุดมการณ์และการก่อตัวของชนชั้นใหม่

ในขณะที่ผู้มีอำนาจปรับตัวไม่ทันต่อสถานการณ์หรือไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และเมื่อเกิดความอ่อนแอในการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 กอปรกับเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ก็เป็นตัวเร่งให้มีการยึดอำนาจ

หนังสือเล่มนี้เน้นย้ำให้เห็นว่า หากไม่ได้มองดูปัจจัยเหล่านี้ ก็อาจจะวนเวียนอยู่กับปัญหาของ "ความพร้อมหรือไม่พร้อมของสยาม" ที่วนเวียนอยู่แบบหาทางออกไม่ได้ในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของไทย (หน้า 111-113)

อย่างไรก็ตาม ในบทที่ 3 "การเมืองไทยหลัง 24 มิถุนายน 2475" ก็มีข้อมูลให้เห็นว่า "แม้จะหวั่นวิตกกันมาตลอดเวลาของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนกลายเป็นข้ออ้างกันว่า คนไทยไม่พร้อมต่อการปกครองตนเอง แต่กลับปรากฏว่า ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งสมัยนี้กลับแสดงบทบาทและความรับผิดชอบของตนอย่างมีประสิทธิภาพ" (หน้า 168)

ในบทต่อๆมา เป็นการกล่าวถึงยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องราวของการเมืองไทยในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง จุดจบของรัฐบาลจอมพล ป. และการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และบทสุท้ายเกี่ยวกับการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสมัยของคณะรัฐประหาร (2490-2500)

หนังสือหลายเล่มที่นำมากล่าวถึงนี้ มีให้โหลดมาอ่านกันฟรีๆ ที่คลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ digital.library.tu.ac.th


ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]