”พรรคประชาชาติ” ห่วงวิกฤตอ่าวปัตตานี กระทบประมงพื้นบ้าน รายได้ลด 80%






การเมือง: สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ยกปัญหาวิกฤตอ่าวปัตตานีหารือก่อนวาระประชุมสภาฯ ชี้รายได้ชาวประมงลดฮวบกว่า 80 % เสนอทางแก้ ขุดลอกร่องน้ำชุมชน เปิดปากอ่าวปัตตานีที่ปลายแหลมตาชีให้คงสภาพเช่นเดิม

9 สิงหาคม 2566 - ที่สภาผู้แทนราษฎร นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สส.ปัตตานี เขต 5 พรรคประชาชาติ ได้หารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม กรณีปัญหาวิกฤตอ่าวปัตตานี ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากผู้คนรอบอ่าวปัตตานี มากกว่า 50,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล 2 อำเภอ (อำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง) ที่ปัจจุบันมีความเสื่อมโทรมจนถึงขั้นวิกฤต ที่สร้างผลกระทบเป็นห่วงโซ่แก่ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี

จากการลงพื้นที่รับทราบปัญหาด้วยตนเอง และจากข้อมูลวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม และคณะ ที่ติดตามปัญหาอ่าวปัตตานีมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบัน ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีมีรายได้จากการทำประมงบริเวณอ่าวปัตตานีตอนในลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 129 ล้านบาท ในปี 2542 ลดลงเหลือเพียง 25 ล้านบาท ในปี 2563 หรือลดลง ร้อยละ 80 เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ประชาชนไม่สามารถหาเงินจากการทำประมงเหมือนอดีต

ดังนั้น จากประเด็นปัญหาดังกล่าว เครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีจึงได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ป่าชายเลน และกรมประมง แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ

1. ขุดลอกร่องน้ำชุมชน ที่มีความตื้นเขินในหลายร่องน้ำ จนทำให้กระแสน้ำเค็มเข้าไปหมุนเวียนและเป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำวัยอ่อนไม่ได้

2. ทำการศึกษาวิธีการเปิดปากอ่าวปัตตานีที่ปลายแหลมตาชีให้คงสภาพเช่นเดิมเหมือนอดีต ที่ปากอ่าวมีความกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันปากอ่าวปัตตานีมีความกว้างเพียง 1.9 กิโลเมตรเท่านั้น ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง การดันกระแสน้ำเค็มไปยังก้นอ่าว ไปไม่ถึง เกิดภาวะความเค็มของน้ำลดลง จนผักตบชวาขึ้นตรงปากร่องน้ำตำบลบางปู



จากปัญหาดังกล่าว ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความล้าช้าในการแก้ไขปัญหา นั้นอาจหมายถึงการที่ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีจำเป็นต้องทิ้งอาชีพประมง ต้องขายเรือ ขายอวนแล้วอพยพไปเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ทิ้งคนแก่ไว้ข้างหลัง

เรื่องที่ 2 ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงตั้งแต่พื้นที่ตำบลตะโละกาโปร์ จนถึงตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นปีที่ 3 แล้ว ที่ชาวบ้านรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และ กรรมาธิการการกัดเซาะ ฯ สภาผู้แทนราษฎร ลงมารับทราบปัญหา แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม ที่ชาวบ้านจับต้องได้

ทุกวันนี้ ชายหาดตะโละกาโปร์ ชายหาดตะโละสมีแล ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี มีแต่ซากปรักหักพังของต้นไม้ที่ล้ม ซากถนนที่ถูกกัดเซาะ บ้านเรือนชาวบ้าน ที่พังทลาย ความเงียบเหงาของนักท่องเที่ยว เพราะชายหาดที่สวยงามในอดีต มาวันนี้มีแต่ขยะซากปรักหักพังที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะที่รุนแรง จึงขอหารือผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยยึดหลักความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในการแก้ไขปัญหา


ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]