“โศกนาฎกรรมมูโนะ” เมื่อคลังประทัดระเบิด ทั้ง “ส่วยและของเถื่อน” ก็เผยตัวออกมาให้เห็น






บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก


ถือเป็นอีกโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศชาติด้วย เมื่อ “โกดังพลุ ดอกไม้ไฟและประทัด” กลางตลาดชายแดนไทย-มาเลเซียที่บ้านมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เกิดระเบิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 29 ก.ค. 2566 มีผู้เสียชีวิต 12 ศพ บาดเจ็บกว่า 200 ราย บ้านเรือนราบพนาสูรไปด้วยกว่า 200 หลัง

เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากกระทบโดยตรงต่อคนในชุมชนแล้ว ยังสร้างความสะเทือนใจจนนับเป็น “ฝันร้าย” ของคนไทยทั้งชาติ สำหรับสาเหตุนั้นนอกจากเกิดจากความ “ประมาท” ของนายทุนแล้ว ยังถือว่าเป็นการ “ปล่อยปละละเลย” ของเจ้าหน้าที่ให้มีการ “ทำผิดกฎหมาย” อย่างมีนัยะสำคัญ

รู้ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นสถานที่จัดเก็บวัตถุอัตรายมากมายหลายสิบตัน แต่เจ้าของกิจการยังให้ช่างเข้าไปเชื่อมเหล็กเพื่อต่อเติมอาคารจนเกิดประกายไฟไปปะทุเผาผลาญดินปืนเหล่านั้น ซึ่งโศกนาฏกรรมนี้ไม่ใช้ฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน

และที่สำคัญยังต้องถือว่ารุนแรงกว่าปฏิบัติการของ “บีอาร์เอ็น” เสียด้วยซ้ำ

หลังเกิดเหตุมีคำถามมากมายที่พุ่งเป้าเข้าไปที่รัฐบาล ซึ่งอย่างน้อยเป็นเรื่องที่มี 5 กระทรวงเกี่ยวข้องต้องตอบ แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แล้วต้องจัดว่าเป็นคำถามคำโตเอามากๆ และเจาะจงไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รวมถึง “ตำรวจ” และ “ฝ่ายปกครอง

หน่วยงานทั้ง 3 ฝ่ายพวกท่านทำหน้าที่กันอย่างไร ถึงปล่อยให้พื้นที่ที่ต้องดูแลด้านความมั่นคงเป็นพิเศษอย่าง “ตลาดมูโนะ” ย่านการค้าขนาดใหญ่ชายแดนที่เดินแค่ข้ามแม่น้ำโก-ลกก็ถึง “ตลาดรันตูปันยัง” ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย จึงได้กลายเป็นสถานที่ “เก็บวัตถุระเบิด” จำนวนมากที่นำไปใช้ก่อวินาศกรรมสุมไฟใต้ได้ด้วย




ที่สำคัญเมื่อปี 2559 ทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็เคยนำจับกุม “เจ๊หลิน-เสี่ยไหว” ผู้เจ้าของโกดังจัดเก็บวัตถุอันตรายแห่งนี้ส่งดำเนินคดีมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กลับพ้นข้อกล่าวหาไปได้ ทำให้พวกเขากลับมาก่อสร้างโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟและประทัดรอส่งไปขายมาเลเซียให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นจนเป็นเบอร์ 1 ของวงการ

ความจริงแล้วโกดังที่เกิดระเบิดถือเป็นอาคารที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ได้ไม่นานนี้เอง จึงมีคำถามว่า “ใครคือผู้อนุญาตให้ก่อสร้าง” และในขั้นตอนการตรวจแบบแปลนได้มีการระบุไว้หรือไม่ว่า สร้างเพื่อเก็บสินค้าชนิดไหน โดยเฉพาะมีสินค้าที่ถือเป็นวัตถุอันตรายด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ การค้าวัตถุอันตรายในตลาดมูโนะไม่ได้มีแค่กิจการของ “เจ๊หลิน-เสี่ยไหว” สองสามีภรรยาเท่านั้น ยังมีอีกหลายกลุ่มทุนที่ทำกิจการในลักษณะเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ตลาดมูโนะเองยังถือเป็น “ชุมทางสินค้าเถื่อน” อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด รวมทั้งเป็นเส้นทางส่ง “คนเถื่อน” ด้วย

จึงไม่แปลกที่ตลาดมูโนะจะกลายเป็น “ชุมทางส่วย” ไปพร้อมๆ กัน โดยเป็นที่รู้กันว่ามี “จ่า ฟ.” ทำหน้าที่ขาใหญ่เรียกเก็บส่วยเพื่อนำแบ่งสรรสันปันส่วนให้แก่บรรดา “นาย” ของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มาช้านาน ไม่เชื่อลองไปถาม “ชุดเฝ้าระวังชายแดน” และ “ชุดการข่าว” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า จริงหรือไม่

เป็นไปได้หรือไม่ที่ “ทหาร” ในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะไม่รับรู้ว่า ตลาดมูโนะมีโกดังเก็บวัตถุอันตราย เป็นไปได้หรือไม่ที่ไม่เคยเห็นการขนส่งลำเลียงวัตถุอันตรายจากฝั่งไทยข้ามไปขายยังฝั่งมาเลเซีย และเป็นไปได้หรือไม่พวกเขาไม่ได้รับส่วยสาอากรจากการค้าวัตถุอันตรายในตลาดมูโนะแห่งนี้


ในเมื่อชาวบ้านในชุมชนเกือบจะทุกคนรู้ว่า “เจ๊หลิน-เสี่ยไหว” เป็นผู้ค้าวัตถุอันตรายเบอร์ 1 ที่ส่งไปขายยังมาเลเซีย หรือมีแต่ “ทหาร” ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียเท่านั้นที่ไม่รู้ ส่วน “ตำรวจ” กับ “ฝ่ายปกครอง” นั้นขอโทษไม่ต้องบอกก็เป็นที่รู้กันว่า “รู้เต็มอก” ว่ามีการ “จ่ายส่วยรายเดือน” กันด้วย

และที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจการค้าวัตถุอันตรายของสองสามี-ภรรยาคู่นี้อยู่ได้อย่างยั่งยืน เติบโตชนิดที่ก่อสร้างโกดังขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่กลายเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ที่เกิดบึ้มกลางชุมชน ก็เพราะว่า ทั้ง “เจ๊หลิน-เสี่ยไหว” มั่นใจในอิทธิฤทธิ์ของ “ส่วย” ที่ส่งให้ผู้มีอำนาจว่ามันจะทำให้กฎหมายทำอะไรพวกเขาไม่ได้นั่นเอง





ถ้าผู้รักษากฎหมายอย่าง “ตำรวจ” หรือ “ฝ่ายปกครอง” ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง อย่างเช่นไม่ออกใบอนุญาตให้สร้างโกดังเก็บวัตถุระเบิดกลางชุมชน หรือแนะนำให้ไปสร้างโกดังในพื้นที่ห่างไกลชุมชน เป็นต้น “ความสูญเสีย” ที่เกิดขึ้นกับประชาชนคงจะไม่มากมายเท่าที่เป็นและเป็นอยู่

เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับส่วยทำให้ต้องทำ “ตามใจ” หรือถึงขั้น “เอาใจ” นายทุนเพื่อให้มีความสะดวกในการเก็บกักตุนวัตถุอันตรายก่อนขนส่งข้ามแดน จึงไม่ต่างจาก “พระปิดตา” คือไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น โศกนาฏกรรมยิ่งใหญ่จึงเกิดขึ้นได้ในใจกลางชุมชนขนาดใหญ่บนแผ่นดินแห่ง “ความมั่นคงพิเศษ” ของชายแดนใต้

ในส่วนของหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความสงบเรียบร้อยในชายแดนใต้คือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จึงปฏิเสธความรับผิดชอบในครั้งนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการที่จะบอกว่า “ทหารไม่เกี่ยว” หรือ “ทหารไม่รู้ไม่เห็น” ย่อมไม่ได้

เนื่องจากตลาดมูโนะตั้งอยู่แนวชายแดนไทย-มาเลเซียที่มีเพียงแม่น้ำโก-ลกกั้นกลาง แต่ละวันแต่ละคืนจะมีการค้าขายและขนสินค้าทั้งจากฝั่งไทยไปมาเลเซีย และจากฝั่งมาเลเซียมายังฝั่งไทย ดังนั้น ในพื้นที่ย่อมมี “ทหารชุดเฝ้าชายแดน” รวมถึงมี “ทหารชุดการข่าว” และชุดอื่นๆ ตามภารกิจอีกด้วย

ที่สำคัญมากมายคือ ด้านชายแดนบริเวณนั้นไม่ได้มีเพียง “ของเถื่อน” อย่างเดียว แต่ยังเป็นเส้นทางของ “คนเถื่อน” และเป็น “ท่าข้าม” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ข้ามไปมาระหว่าง อ.สุไหงโก-ลกกับรัฐกลันตัน ซึ่งต้องถือเป็นฐานที่มั่นของบีอาร์เอ็นได้อีกแห่งทีเดียว

โศกนาฎกรรมที่ตลาดมูโนะในครั้งนี้บ่งบอกได้ชัดเจนถึง “ความล้มเหลว” ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 3 ฝ่ายคือ “ทหาร-ตำรวจ-ปกครอง” ซึ่งต้องรับผิดชอบร่วมกัน

แต่วันนี้ “ฝ่ายตำรวจ” ใช้วิธีการเดิมๆ นั่นคือ แค่ “เด้ง” 4 เสือโรงพักมูโนะเป็นการเช่นสังเวยความล้มเหลวที่ปลายเหตุ





ในส่วนของ “ฝ่ายปกครอง” วันนี้ยังไม่เห็นมีการโยกย้ายใครเพื่อเซ่นสังเวย ทั้งที่มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องและให้อำนาจตัดสินใจไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อสร้างโกดัง การยินยอมให้มีโกดังเก็บวัตถุระเบิดแถมยังตั้งอยู่กลางชุมชน เป็นต้น สิ่งต่างๆ ถือเป็นความผิดร่วมที่ยากจะหาคำแก้ตัวใดๆ

ส่วน “ฝ่ายทหาร” นั้นเล่า การที่ปล่อยให้มี “คลังแสง” ที่กักเก็บวัตถุระเบิดได้มากมายถึง 5-6 ตันตั้งอยู่ในชุมชนแนวชายแดน โดยที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ต้องถามว่าในภาพกว้างคือ “กองทัพภาค 4” หรือในภาพแคบ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะรับผิดชอบและตอบคำถามประชาชนอย่างไร

ดังนั้น โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ณ ชายแดนใต้ครานี้ จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนโดยไม่ต้องถามเลยว่า ทำไม “กองกำลังติดอาวุธ” ของบีอาร์เอ็นจากฝั่งมาเลเซียจึงลำเลียงวัตถุและอุปกรณ์ประกอบระเบิดเข้ามาก่อวินาศกรรมในชายแดนใต้ของไทยโดยที่ยากจะป้องกันได้

และนี่กระมังที่ “รอมฎอน ปันจอร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล จึงได้เสนอให้สภาผู้แทนฯ “ยุบทิ้ง” กอ.รมน. ซึ่งทำให้ได้รับเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง




ไม่มีความคิดเห็น:

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

งานวิจัย

[๐ งานวิจัย][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศิลปวัฒนธรรม

[๐ ศิลปวัฒนธรรม][twocolumns]