“รมว.ยุติธรรม” เล็งปรับหน้าที่ ศอ.บต. รื้อกระบวนการพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้
ชายแดนใต้ - นายกรัฐมนตรีหารือนอกรอบกับ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ถกแนวทางดับไฟใต้ อาจให้ รมว.ยุติธรรมคุมหมด ทั้ง ศอ.บต. งานด้านการพัฒนา โต๊ะพูดคุยสันติสุข ยกเว้น กอ.รมน. ที่นายกฯ อาจดึงมาดูเอง ด้าน พ.ต.อ.ทวีเผยหากได้ดูแล จะปรับ ศอ.บต.ให้เน้นควบคุม-ดูแล ไม่ต้องทำโครงการเอง นำสภาที่ปรึกษากลับมา รื้อกระบวนการพูดคุยสันติสุขใหม่
4 กันยายน 2566 - มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อาจมอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กำกับดูแลงานเกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ ทั้งกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) การพัฒนาพื้นที่ งานพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนชื่อเป็น “โต๊ะพูดคุยสันติภาพ” ยกเว้นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าดูแลพื้นที่ชายแดนใต้ ที่นายเศรษฐาอาจดึงไว้กำกับดูแลเอง โดยมีรายงานด้วยว่า นายเศรษฐาได้หารือนอกรอบกับ พ.ต.อ.ทวีแล้ว
สำหรับเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่แทน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบัน จะเป็นคนจากส่วนกลาง ซึ่งมีประสบการณ์สูง ผ่านงานระดับอธิบดีมาหลายกรม โดยตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.อยู่ในระดับ 11 หรือ “ซี 11” เท่ากับปลัดกระทรวง
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวีเปิดเผยว่า หากได้รับผิดชอบกำกับดูแล ศอ.บต. ตนจะปรับภารกิจให้เน้นงานด้านพัฒนาเป็นหลัก ต้องไม่ทำเอง แต่เน้นควบคุม กำกับ ดูแล และประสานงานแบบบูรณาการ โดยงานที่จะทิ้งไปไม่ได้คือ ความยุติธรรม เพราะเป็นจุดเด่นที่สุดของหน่วยงาน ศอ.บต.
นอกจากนี้ จะรื้อฟื้นสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.ขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำศาสนา ตัวแทนชาวพุทธ ชาวมุสลิม รวมไปถึงภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมา คสช.ออกคำสั่งปลดสมาชิกสภาที่ปรึกษาชุดเดิม แล้วไปคัดเลือกใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเข้ามามีบทบาท ทำให้ไม่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ส่วนงานพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ พ.ต.อ.ทวี ซึ่งเคยเป็นแกนนำคณะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อปี 2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่า ต้องรื้อกระบวนการพูดคุยใหม่ โดยตั้งประเด็นขึ้นมาให้ชัด อาจจะมี 4-5 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการบริหารการปกครอง แล้วดึงทุกฝ่ายมาร่วมหารือ เพื่อตกผลึกให้ได้ในแต่ละประเด็น เนื่องจากใช้วิธีพูดคุยภาพรวมเหมือนที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้า และไม่มีประเด็นไหนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนำร่องได้เลย
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในฐานะ รมว.ยุติธรรมป้ายแดง ต้องทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะระยะหลังๆ มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็มีนโยบายแก้หนี้ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมีคณะกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ในกระทรวงยุติธรรม และยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกรมบังคับคดี อยู่ในโครงสร้างของกระทรวงด้วย
สำหรับหนี้ที่ไม่เป็นธรรมมีปัญหาอย่างมาก เช่น หนี้ กยศ.หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว ให้ลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ แต่ กยศ.ก็ยังไม่ออกระเบียบมารองรับตามกฎหมายใหม่ ยังคงคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในอัตราเดิม ทำให้ผู้กู้เดือดร้อน ทั้งๆ ที่ผู้กู้เป็นคนขยัน ใฝ่เรียน สมควรสนับสนุน ไม่ใช่ถูกบังคับให้เป็นหนี้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดของกระทรวงยุติธรรม มีแผนศึกษาเรื่องแยกกลุ่มผู้ต้องขัง ไม่ให้ขังรวมกันจำนวนมาก โดยไม่แยะประเภทของนักโทษ เช่น ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี คือคดียังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด กลุ่มนี้ต้องแยกขัง ไม่ควรขังรวมกับนักโทษเด็ดขาด อาจมีโครงการใช้พื้นที่เอกชนเป็นสถานที่คุมขัง ให้นอนรวมกันแค่ 3-4 คน ไม่ใช่นอนกันเป็นร้อยเหมือนในเรือนจำ และมีอาหารให้รับประทาน โดยให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้ว คนกลุ่มนี้ยังไม่ถือว่ามีความผิด จึงต้องไม่ปฏิบัติกับเขาเสมือนหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิด
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหน้างานของกระทรวงยุติธรรมเช่นกัน ก็คือ งานปราบปรามยาเสพติด โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องเห็นผลถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน ทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัดให้ได้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนเดือดร้อนมาก และร้องเรียนเข้ามามากว่ายาเสพติดระบาดหนักจริงๆ นอกจากนั้นยังมีแนวคิดยืมตัวนายตำรวจที่เก่งงานด้านปราบปราม มารับผิดชอบงานที่สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้งานปราบยาเสพติดประสบผลสำเร็จมากขึ้นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น: