กมธ.ยุติธรรม สภาผู้แทนฯ จี้อัยการ-ตำรวจเร่งติดตามสำนวนคดีสลายการชุมนุมตากใบ
ชายแดนใต้ - กมธ.ยุติธรรมติดตามคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบเมื่อปี 2547 ชี้แม้จะเยียวยาไปแล้ว แต่คดีอาญายอมความกันตามข้อตกลงไม่ได้ เร่งอัยการ-ตำรวจติดตามสำนวนภายใน 30 วัน
16 ธันวาคม 2566 - นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ว่า ได้พิจารณากรณีการดำเนินการเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 เนื่องจากประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักงานประจำจังหวัดยะลา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน และติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบัน คดียังไม่มีความคืบหน้าและกำลังจะขาดอายุความ
ในการนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานอัยการภาค 9 ตำรวจภูธรภาค 9 สถานีตำรวจภูธรตากใบ และสถานีตำรวจภูธรหนองจิก เข้าชี้แจงประเด็นการเยียวยา การชดใช้ การช่วยเหลือบุคคลและครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และกรณีทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย โดยคดีนี้ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้ว และมีการทำบันทึกว่าจะไม่มีการดำเนินคดีอาญาใดๆ อีก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้คดีซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินยอมความกันได้
ส่วนกรณีของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้นยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ขณะเดียวกันประเด็นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งกระทำหรือรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากระยะเวลาเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานาน จึงไม่พบสำนวนการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อเหตุ เป็นเหตุให้ดำเนินการทางคดีไม่ได้แต่อย่างใด ผู้แทนจากสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 จึงขอเวลาในการติดตามสำนวนการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลการดำเนินการหรือผลความคืบหน้าต่อคณะ กมธ. ภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันประชุม
อีกทั้งยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนเพื่อสอบหาสำนวนการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ดังกล่าว คณะ กมธ. จึงมีมติให้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้เร่งรัดดำเนินการติดตามผลหรือความคืบหน้าของคดี
และหากมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาจเข้าข่ายความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมกรณีตากใบนี้ เป็นกรณีที่มีความร้ายแรง แม้รัฐจะดำเนินการเยียวยาบุคคลผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจเป็นเหตุให้คดีซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินระงับ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อตอบคำถามของสังคมก่อนที่คดีจะขาดอายุความ
ไม่มีความคิดเห็น: