เลือกตั้งแบบใด! ศอ.บต.ไม่แจ้งจะเลือกตัวแทนสื่อในสภาที่ปรึกษา แถมเปลี่ยนกฎให้ลงคะแนนที่ยะลา
๐ ชายแดนใต้ - สื่อ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้โวย ศอ.บต.ออกระเบียบคัดเลือกตัวแทนสื่อของสภาที่ปรึกษาพิลึก ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไปลงทะเบียนและลงคะแนนที่ยะลาเท่านั้น ซ้ำไม่ประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่ามีการเลือก
19 มกราคม 2568 - จากการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการให้มีการตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่ และมีการออกกฎระเบียบเพื่อคัดเลือกตัวแทนของภาคประชาชนจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนของสภาที่ปรึกษานั้น
ปรากฏว่าในกลุ่มตัวแทนของ สื่อมวลชน มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เพราะ ศอ.บต.ออกกฎระเบียบในการคัดเลือกใหม่ ที่ไม่เหมือนกฎระเบียบเดิม โดย ให้ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นตัวแทนสื่อมวลชน และผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนการเลือกตั้ง ต้องไปลงชื่อที่ ศอ.บต. ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เพื่อการตรวจสอบความถูกต้อง และในวันที่มีการลงคะแนนเลือกตั้ง สื่อมวลชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเดินทางไปลงคะแนนในการเลือกตั้ง ที่ ศอ.บต. เท่ากับว่าในการ เลือกตั้งตัวแทนสื่อครั้งนี้ สื่อมวลชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเดินทางไปยัง ศอ.บต.ถึง 2 ครั้ง ทำให้สื่อมวลชน ที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแบบวิชาชีพไม่สะดวกในการเดินทางทั้งการไปลงชื่อเพื่อการตรวจสอบและการเดินทางไปเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
ทั้งนี้ในกฎระเบียบเก่า ที่เคยใช้ในการเลือกตั้ง ตัวแทนสื่อมวลชนของสภาที่ปรึกษาฯ ที่ผ่านมานั้น ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นตัวแทนกลุ่มสื่อมวลชนต้องเดินทางไปยื่นหลักฐานการสมัครเพื่อการตรวจสอบสิทธิและคุณสมบัติว่าถูกต้องหรือไม่ ที่ ศอ.บต. แต่ สื่อมวลชนที่มีสิทธิในการลงคะแนนเพื่อเลือกตัวแทนของตน ไม่ต้องไปลงชื่อเพื่อการตรวจสอบคุณสมบัติที่ ศอ.บต. แต่ให้ไปลงชื่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็น "สื่อมวลชนวิชาชีพ” หรือไม่ ที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่ง ศอ.บต. จะร่วมกับจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการ และในวันลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์ในการลงคะแนนก็เดินทางไปใช้สิทธิ์ในการลงคะแนน ที่ หน่วยเลือกตั้ง ที่ศาลากลางจังหวัด ตามภูมิลำเนา
การเปลี่ยนกฎระเบียบการเลือกตั้งตัวแทนกลุ่มสื่อมวลชน ครั้งนี้ของ ศอ.บต.ไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานของสื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับทราบ ไม่มีสมาคม ชมรม หรือกลุ่มสื่อในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนรับรู้และแสดงความคิดเห็น ไม่เหมือนในอดีตที่องค์กรสื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นสื่อมวลชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับรู้การเลือกตั้งตัวแทนสื่อของสภาที่ปรึกษาฯ ในครั้งนี้
หลังจากที่มีการประกาศให้สื่อไปลงชื่อ เพื่อดำเนินการเลือกตัวแทนของกลุ่มสื่อมวลชนไปทำหน้าที่ใน สภาที่ปรึกษาฯ จึงมีผู้ที่เป็นสื่อมวลชน ที่ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ยะลาไปลงชื่อเพียง 26 คน ซึ่งโดยความเป็นจริง ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็น "สื่อวิชาชีพ” มีอยู่จังหวัดละไม่ต่ำกว่า 50 คน รวม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 250 คน -300 คน การที่มีทั้งผู้ลงชื่อเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นตัวแทนกลุ่มสื่อมวลชนและผู้ไปลงชื่อเพื่อเลือกตั้งรวมกันเพียง 26 คน จะถือว่าเป็นกลุ่มตัวแทนของ สื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบธรรม
ผู้สื่อข่าวจำนวนมากใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความผิดพลาดของ ศอ.บต. ในการออกกฎระเบียบการเลือกตั้ง ที่ไม่ สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ไม่คำนึงถึงความยุ่งยาก ของสื่อมวลชน ในการที่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเดินทางไปลงทะเบียนและเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง รวมทั้ง ศอ.บต.ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนให้รับทราบ ไม่มีองค์กรสื่อมวลชน มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งหากใครได้รับการเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนของกลุ่มสื่อมวลชน ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มสื่อมวลชนและสังคม เพราะมีผู้ไปลงทะเบียน เพื่อการรับสมัครเป็นตัวแทน และการลงคะแนนเพียง 26 คน จากจำนวน 300 คน ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้น สื่อมวลชนวิชาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอเรียกร้องให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการในการคัดเลือกตัวแทนของกลุ่มสื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ และ หนังสือพิมพ์ ในการเข้าไปเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาให้ถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องกับความจริงในพื้นที่ เพื่อให้ตัวแทนของ กลุ่มสื่อมวลชนเป็นตัวแทนที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของสื่อมวลชนและสังคม ในพื้นที่ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สว.กลุ่มสื่อสารมวลชนและวรรณกรรม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความคิดเห็นว่า การออกกฎระเบียบในการคัดเลือกตัวแทนของสื่อมวลชน เพื่อไปทำหน้าที่ในสภาที่ปรึกษาฯ ครั้งนี้ของ ศอ.บต.ไม่ถูกต้องหลายประการ และที่สำคัญไม่มีการยึดโยงกับองค์กรสื่อในพื้นที่ เป็นการ คิดเอง ทำเอง โดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในบริบทของสื่อมวลชน จึงใคร่ขอให้ผู้เกี่ยวข้องมีการทบทวนและให้พิจารณาถึงกฎระเบียบในการในการเลือกตั้ง โดยยึดเอากฎระเบียบเก่าที่เคยใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อให้สื่อมวลชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนของพวกเขา ที่เขาต้องการ เพื่อไปทำหน้าที่ในสภาที่ปรึกษาอย่างมีคุณภาพ
//////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น: